24 May 2012

-: Space และบางแง่มุมของชาตรี :-

“เขาพบว่าเมื่อคนเราถูกจำกัดอยู่ในกฏกรอบใดๆ มากเกินไป ก็จะเผยธาตุแท้แห่งมนุษย์ออกมา”

ชาตรีกำลังนั่งเขย่าขาตามจังหวะดับเบิ้ลเบสอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สองหูถูกเสียบคาไว้ด้วยเครื่อง Mp3 ที่กำลังส่งเสียงเพลงจังหวะนุ่มไพเราะอย่าง Dream a little Dream of me ของ Nat King Cole นักร้อง นักเปียโนแจ๊สชาวอเมริกัน พระอาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้าแล้ว ผู้คนที่เดินผ่านหลังเขาเริ่มน้อยลงทุกทีๆ จนสักพักก็เหลือเพียงถนนว่างเปล่า เขายังคงปล่อยสายตาเหม่อลอยออกไปไกลแสนไกล

ท่ามกลางสังคมที่หมุนเร็วจนน่าเวียนหัว ผู้คนต่างเร่งรีบ แย่งกันกิน แย่งกันเดิน แย่งกันหายใจเช่นนี้ การนั่งปล่อยอารมณ์โดยไม่แคร์สายตาใครอย่างที่ชาตรีทำ อาจสร้างความสงสัยและรำคาญใจให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมาในบริเวณนั้นได้ไม่น้อย ทั้งๆ ที่จริงแล้วมนุษย์ทุกคนกลับต้องการเพียงมุมสงบเล็กๆ ให้ตัวเองได้ตื่นขึ้นมาแล้วมีอาหารกิน มีที่อยู่อาศัย มีเสื้อผ้าใส่ มียารักษาโรค และที่สำคัญคือมีความสุขใจเพียงแค่นั้นไม่ใช่หรือ? แล้วชาตรีผิดตรงไหน ถ้าต้องการมีพื้นที่ส่วนตัวเล็กๆ หลังวันทำงานอันหนักหน่วง?

Space - ในความหมายเชิงปัจเจกบุคคล
ตัวตน (Self) และอัตลักษณ์ (Identity) เป็นคำที่มีความหมายเกี่ยวข้องกันและมีความสัมพันธ์กับวิชาหลากหลายแขนงทางสังคมศาสตร์ ทั้ง สังคมวิทยา มานุษยวิทยา จิตวิทยา และปรัชญา โดยซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) จิตแพทย์ผู้คิดค้นแนวคิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ได้ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์มิได้เป็นสัตว์ที่มีเหตุผลดังเช่นที่พวกเขาเชื่อหรืออยากเป็น หากแต่ความคิดของมนุษย์ถูกกำหนดโดยพลังแห่งจิตไร้สำนึกที่ซ่อนเร้นและหลุดรอดจากความเข้าใจของมนุษย์ตลอดมา

เขาพบว่าเมื่อคนเราถูกจำกัดอยู่ในกฏกรอบใดๆ มากเกินไป ก็จะเผยธาตุแท้แห่งมนุษย์ออกมาผ่านการกระทำ ความคิด ความเชื่อ หรือเรื่องราวเกี่ยวกับตัวตน ซึ่งจะถูกกำหนดให้แสดงออกโดยจิตไร้สำนึก (unconscious), แรงขับ (driver) และความปรารถนา (desire)

และอันที่จริงแล้วการแสดงออกของมนุษย์เมื่อสูญเสียพื้นที่ส่วนตัวให้แก่พื้นที่สาธารณะมากเกินไป จะไม่ใช่เพียงการนั่งติสต์แตกห้อยขาอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนชาตรีทำแต่เพียงอย่างเดียว เพราะตามเงื่อนไขของฟรอยด์นั้น มนุษย์จะมีกลไกที่ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันพื้นที่ส่วนตัวของตนเองที่เรียกว่า ‘Ego Defense Mechanism’ ซึ่งประกอบไปด้วย

  1. การไม่ตัดสินใจเลือกข้างใดข้างหนึ่ง (Ambivalence) เป็นสภาวะที่ Ego ไม่ตัดสินใจเลือกข้างใดข้างหนึ่งให้เด็ดขาดลงไป แต่จะตกอยู่ในสภาวะสองจิตสองใจ
  2. ปฏิกิริยาการหลบหนี (Avoidance) เป็นปฏิกิริยาการหลบหนีจากวัตถุ ผู้คน หรือเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องเจ็บปวด เนื่องจากต้องข่มความรู้สึกที่พลังทางเพศและความก้าวร้าวอันแฝงอยู่ในจิตไร้สำนึกถูกกระตุ้นให้สำแดงความปรารถนาออกมา
  3. การหยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง (Fixation) เป็นสภาวะที่หยุดอยู่กับที่ไม่ยอมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปเพราะประสบการณ์อันเจ็บปวด (Trauma) เช่น ชาตรีที่เคยสูญเสียพ่อแม่ก็จะไม่สร้างความรักกับใครอีกเลยแม้แต่พอลล่า เทเลอร์ หากจะเกาะยึดอยู่กับความรู้สึกสูญเสียที่เกิดขึ้น
  4. การเลียนแบบ (Identification) คือการปรับตัวโดยการเลียนแบบบุคคล หรือสิ่งของที่ตนชื่นชอบ โดยการพยายามปรับเปลี่ยนด้วยความรู้สึกทางจิตใจ มิใช่เพียงพฤติกรรมเท่านั้น เช่นการที่ชาตรีแสดงพฤติกรรมให้เหมือนกับชาลี (ใคร?) ซึ่งอาจเป็นดารา นักแสดงหรือตัวละครต่างๆ
  5. การป้ายความผิดให้ผู้อื่น (Project) คือการลดความวิตกกังวล โดยการโยนหรือป้ายความผิดไปให้กับผู้อื่น
  6. การแสดงปฏิกิริยาตรงข้ามกับความปรารถนาที่แท้จริง (Reaction Formation) คือการที่แสดงออกในสิ่งที่ตรงข้ามกับที่ตนรู้สึก เพราะคิดว่าสังคมอาจยอมรับไม่ได้
  7. การเก็บกด (Repression) เป็นการเก็บความรู้สึกผิด ความคับข้องใจเอาไว้ในจิตใต้สำนึกจนกระทั่งลืม ซึ่งการเก็บกดนี้หากต้องเก็บความรู้สึกเอาไว้มากอาจทำให้เป็นโรคประสาทได้
  8. การขจัดความรู้สึก (Supersession) มีลักษณะคล้ายกับ Repression แต่เป็นกระบวนการขจัดความรู้สึกดังกล่าวออกไปจากความคิด และเป็นกระบวนการที่เกิดอย่างที่ผู้กระทำมีความรู้ตัวและตั้งใจ ในขณะที่ Repression นั้นไม่รู้ตัว
  9. การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) คือการหาเหตุผล หาคำอธิบาย มาอ้างอิง มาประกอบการกระทำของตนเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น
  10. การชดเชยหรือการทดแทน (Substitution/Compensation) การชดเชยหรือการทดแทนด้วยการหาทางออก ในอันที่จะแสดงความต้องการของตน เช่น ชาตรีต้องการระบายความก้าวร้าวก็หันไปเล่นกีฬาทดแทน หรือวิพากษ์วิจารณ์ศิลปะ เป็นการชดเชยในสิ่งที่สังคมยอมรับได้
  11. การถดถอย (Regression) คือการหนีกลับไปอยู่กับสภาพอดีตที่ตนเคยมีความสุข เช่น ผู้ใหญ่เมื่อเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดก็แสดงอาการกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง 
  12. การสร้างวิมานในอากาศ หรือการฝันกลางวัน (Fantasy / Day Dreaming) คือการคิดฝัน หรือสร้างวิมานขึ้นเองเพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่สามารถเป็นจริงได้
  13. การแยกตัว (Isolation) คือการแยกตัวให้พ้นจากสถานการณ์ที่นำความคับข้องใจมาให้ โดยการแยกตนออกไปอยู่ตามลำพัง
  14. การหาสิ่งที่มาแทนที่ (Displacement) คือ การระบายอารมณ์โกรธ หรือคับข้องใจต่อคนหรือสิ่งของที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุของความคับข้องใจ

ผลลัพธ์ของการมีขอบเขต Space ในเผ่าพันธุ์มนุษย์ 
ในบทความเรื่องย้อนรอยมวลหมู่มนุษยชาติของเจมส์ ชรีฟ ได้เผยให้เรารู้ว่าบรรพบุรุษมนุษย์ไม่กี่ร้อยคนมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่แอฟริกา ก่อนที่จะเดินทางมุ่งไปทางตะวันออกเมื่อราว 200,000 ปีที่แล้ว และการแยกย้ายไปยังทวีปต่างๆ นี้เอง ที่ทำให้มนุษย์มีรูปร่างหน้าตาและเชื้อชาติใหม่ๆ เกิดขึ้น จนจบลงด้วยจำนวนประชากรบนพื้นโลกราว 7,000 ล้านคนในปัจจุบัน 

หนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเดินทางออกจากแอฟริกาของบรรพบุรุษ มาจากการขาดซึ่ง Space ส่วนตัวเมื่อจำนวนของประชากรต่อพื้นที่เริ่มหนาแน่นขึ้น เช่นเดียวกับการย้ายที่อยู่อาศัยของคนกรุงเทพฯ จากเมืองหลวงไปสู่หัวเมืองใหญ่ที่ยังพอมีสาธารณูประโภคให้ใช้อย่างสบายมือและไม่ต้องไปรบรากับคนหมู่มาก อย่าง เชียงใหม่ พัทยา รวมไปถึงหัวหิน เหมือนที่ชาตรีเคยเอ่ยปากกับผมอยู่ครั้งหนึ่ง “เฮ้ย! กูอยากจะไปใช้บั้นปลายชีวิตที่เชียงใหม่ว่ะ” ก่อนที่ผมจะสวนกลับไปว่า “เขาไม่ต้อนรับมึงหรอก” แต่ห้ามชาตรีอย่างไรก็คงยาก เพราะตามแผนที่การเดินทางของมนุษย์ได้บอกแก่เราว่า การย้ายถิ่นฐานเพื่อเพิ่มพื้นที่ส่วนตัวให้ตนเองจะยังคงมีอยู่ตลอดไปตราบใดที่มนุษย์ยังไม่ได้เป็นสัตว์สังคม

การอพยพจาก Private Space สู่ Public Space 
จากข้อมูลเหล่านี้ได้ช่วยไขข้อข้องใจให้ชาตรีได้ไม่น้อย เพราะใครหลายคนรวมถึงเขาคงเคยสงสัยอยู่ว่า ถ้ามนุษย์ต้องการพื้นที่ส่วนตัวจริง แล้วทำไมสังคมในรูปแบบ Public Space อย่าง Hi5, mySpace รวมไปถึง Facebook ของหนุ่มมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) จึงได้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมๆ กับเสียงตอบรับอันล้นหลาม แม้แต่ชาตรีก็มีกับเขาไปด้วย 

ซึ่งถ้าหากมองให้ดีแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ได้แตกต่างอะไรกับการอพยพของผู้คนจากโลกใบจริงไปสู่โลกเสมือน เพราะในปัจจุบันนี้โลกใบจริงเริ่มมีข้อจำกัดและริดรอนสิทธิการแสดงออกถึงเรื่องส่วนตัวมากขึ้น จนสร้างความรำคาญและความอึดอัดใจให้แก่ผู้อยู่อาศัย แต่เมื่อข้อจำกัดด้านทุนทรัพย์และวัฒนธรรมสมัยใหม่เริ่มบังคับไม่ให้ผู้คนโยกย้ายถิ่นฐานไปไหนต่อไหนตามใจแบบยิปปี้ การแพ๊กกระเป๋าแล้วเดินทางสู่โลกเสมือนจึงได้เริ่มต้นขึ้น

บทสรุป 
เพราะความผิดเพี้ยนในจิตใจมนุษย์อาจเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ครั้งที่โลกได้พลิกเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมทุนนิยมอุตสาหกรรม กฎระเบียบอันยุ่งเหยิงได้สร้างเงื่อนไขให้ชาตรีและมนุษย์เราแบกรับไว้อย่างเลี่ยงไม่ได้ ต้องทำงานก็ต้องตื่นแต่เช้า ต้องมีเงินก็ต้องขวนขวายทำงานหนัก ต้องทำงานหนักก็ต้องเหนื่อย และเมื่อต้องเหนื่อย ชาตรีก็จำเป็นต้องใช้ชีวิตอย่างไร้ความสุข ขณะนี้ชาตรีกำลังนั่งเขย่าขาตามจังหวะดับเบิ้ลเบสอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปหมดทั้งดวงแล้ว ถนนเส้นเดิมที่ชาตรีนั่งยังคงว่างเปล่า 

เขาลุกเดินไปสตาร์ทรถยนต์คันหรู แล้วเริ่มขับเข้าไปหาความวุ่นวายบนพื้นที่ส่วนรวมอีกครั้งอย่างเลี่ยงไม่ได้… บ้ายบายชาตรี พรุ่งนี้เจอกัน! 

บรรณานุกรม 
1. เอมอร ลิ้มวัฒนา. พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ส่วนตัว และเรื่องตัวตนบนไซเบอร์สเปซ ใน บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน. 2551. 
2. ไชยันต์ ไชยพร. Post Modern Man คนกับโพสต์โมเดิร์น. สำนักพิมพ์ openbooks. 2552. 
3. Fritjof Capra. The Turning Point: Science, Society, and the Rising Culture. Publisher: Bantam. 2527. 
4. เจมส์ ชรีฟ (James Shreeve). ย้อนรอยมวลหมู่มนุษยชาติ ใน National Geographic ฉบับภาษาไทย. มีนาคม 2549.

เผยแพร่ครั้งแรกที่ - คอลัมน์ Crush Archive นิตยสาร Crush Magazine (พฤษภาคม 2552)

No comments: