15 February 2007

-: 1001 Books You Must Read Before You Die :-

1001 Books You Must Read Before You Die
Dr. Peter Boxall


“อย่างที่มีคนเคยพูดเอาไว้ว่า ใจความของการมอบของขวัญไม่ได้อยู่ที่ผู้รับต้องการอะไรจริงๆ แต่อยู่ที่ผู้ส่งตีความจากมุมมองตัวเองว่าผู้รับต้องการอะไรจริงๆ”


ในโลกที่วัตถุโบราณ งานศิลปะ และของที่มีคุณค่าทางจิตใจถูกเก็บสะสมไว้ในพื้นที่ส่วนตัวของมหาเศรษฐี หรือผู้ที่หลงไหลคลั่งไคล้บางคน บางกลุ่ม ที่พากันปิดประตูหน้าต่างแอบกระหนุงกระหนิงชื่นชมรื่นรมณ์กันด้วยไม่กี่การประสบพบคู่ของดวงตาเท่านั้น แวดวงหนังสือ และงานวรรณกรรม (จะคลาสสิกหรือไม่ก็ตาม) อาจจะทำตัวไม่ถูกว่าควรจะต้องโห่ฮาพากันดีใจ หรือตีสีหน้าสลดในแง่มุมที่งานเหล่านี้อาจมีคุณค่า และราคาเทียบไม่ได้กับงานศิลปะ หรือวัตถุโบราณเหล่านั้น จึงไม่เป็นที่นิยมถูกผู้มีเบี้ยใหญ่ หอยใหญ่ พากันแอบซุกซ่อนสะสมไว้ดูเล่นแต่เพียงผู้เดียวมากนัก

ก่อนคืนวันวาเลนไทน์จะผ่านมาทักทายส่งยิ้ม ณรวิตรยังคงหมกตัวอยู่กับการอ่านหนังสือ และนั่งดื่มด่ำกาแฟหอมกรุ่นอยู่คนเดียวในร้านกาแฟที่ตั้งสงบนิ่งอยู่กลางเมืองหลวง หลายปีที่ผ่านมานี้ชายหนุ่มได้รับของขวัญหลากหลายรูปแบบจากคนอื่นรอบกายต่างกรรมต่างวาระ แต่โดยรายละเอียดส่วนใหญ่มักจะเป็นของที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์อะไรได้มากนักในขณะที่ได้รับมา อย่างที่มีคนเคยพูดเอาไว้ว่า ใจความของการมอบของขวัญไม่ได้อยู่ที่ผู้รับต้องการอะไรจริงๆ แต่อยู่ที่ผู้ส่งตีความจากมุมมองตัวเองว่าผู้รับต้องการอะไรจริงๆ
แน่นอนว่าถ้าถามก่อนว่าเจ้าตัวอยากได้อะไรความประหลาดใจก็คงหมดไป! เขาจึงอดที่จะประหลาดใจทุกครั้งไม่ได้ที่ได้รับของขวัญมาจากผู้อื่น
ประหลาดใจ ว่าเขาควรนำของที่ได้ไปทำอะไรดี?

ไม่ต่างอะไรจากคนอื่น ณรวิตรก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มักซื้อของขวัญให้ผู้อื่นโดยใช้วิธีการสังเกตด้วยตัวเองว่าในขณะนั้นๆ สิ่งของชิ้นใดน่าจะเหมาะสมกับผู้รับมากที่สุด นับว่าเป็นโจทย์ที่ยุ่งยากและสร้างความลำบากใจให้กับตัวเองไม่น้อย ระยะหลังมานี้ชายหนุ่มจึงหาทางออกด้วยการมอบของขวัญในรูปแบบของหนังสือที่เขาอ่านแล้วคิดว่าเหมาะสมกับจริตของผู้รับ
แต่โชคดีที่วาระพิเศษของปวงชนชาวไทยอย่างวันวาเลนไทน์นี้ชายหนุ่มพอจะมีความคิดแล้วว่าจะมอบอะไรให้กับคนพิเศษของเขาดี

เพื่อนที่น่าสงสารคนหนึ่งโทรศัพท์มาทักทายณรวิตรในช่วงหัวค่ำหลังเลิกงาน และพร่ำบ่นถึงปัญหาว่าตัวเองคงถึงทางตันในการเลือกซื้อของขวัญพิเศษสักชิ้นให้กับแฟนสาวของเขา เสียงของเขาดูเคร่งเครียดจนทำเอาชายหนุ่มถอนหายใจโล่งอกที่สามารถขจัดปัญหานี้ของตัวเองได้ทันท่วงทีก่อนวันพรุ่งนี้จะมาถึง โดยไม่อยากรบกวนเนื้อสมองอีกครั้งชายหนุ่มจึงเสนอไม้ตายที่ใครหลายคนอาจมองว่าแปลกประหลาดสิ้นคิด (น่าเสียดายที่ไม่มีใครมอบของขวัญให้กันเป็นหนังสือมากนัก) ของตัวเองให้กับเขา “หรือจะเป็นหนังสือสักเล่มดี!”

เหมือนชีวิตของเพื่อนจะดีขึ้นเล็กน้อย ทำให้พอหายใจได้คล่องคอขึ้นบ้าง แต่พอช่วงเวลาผ่านไปชั่วครู่ชายหนุ่มกับพบว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ช่วยอะไรเลย ในประเทศที่คนอ่านหนังสือกันน้อยอย่างนี้ แล้วเพื่อนคนนี้จะมอบหนังสืออะไรให้กับคนที่เขารักในค่ำคืนสัญลักษณ์อันหวานฉ่ำพรุ่งนี้ดี ไม่ทันกระพริบตาดูเหมือนชีวิตของเขาและเพื่อนจะแย่ลงเล็กน้อย...

หากจะพูดถึงเรื่องหนังสือ หนังสือของ Dr. Peter Boxall อาจารย์บรรยายวิชาวรรณกรรมอังกฤษจากมหาวิทยาลัย Sussex อาจช่วยให้ชีวิตของณรวิตรและเพื่อนง่ายดายขึ้นอีกครั้ง นอกจากนั้นอาจช่วยกระตุ้นคุณค่าของแวดวงวรรณกรรมโลก และสร้างแนวทางการตามหาไล่ล่าหนังสือที่มีชื่อปรากฏอยู่ใน “1001 Books You Must Read Before You Die” ซึ่งอาจจัดได้ว่าเป็นหนังสือชั้นดีที่ใครๆ หลายคนไม่ควรพลาด (อย่างน้อยก็ในมุมมองของอาจารย์ผู้คลุกคลีอยู่กับงานวรรณกรรมระดับโลกคนนี้) ให้กับกลุ่มคนที่มีความรักในงานวรรณกรรมได้ไม่น้อย และยิ่งกว่านั้นหนังสือเล่มนี้ช่วยก่อให้เกิดการรวมตัวของนักอ่านชาวสหราชอาณาจักร รวมไปถึงอีกหลายประเทศ ที่เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติ รวมถึงแจ้งข่าวให้เพื่อนร่วมสังคมเสมือนบนโลก Cyber ทราบว่าในช่วงเวลานี้ตนทำแต้มอ่านหนังสือไปได้เท่าไรแล้ว และแน่นอนว่ามีบางคนสามารถจบการอ่านหนังสือชั้นดีของโลกถึง 1,001 เล่มนี้ลงได้แล้วจริงๆ
“1001 Books You Must Read Before You Die” ได้รวบรวมรายชื่อ และรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และผู้เขียนแต่ละคน แต่ละเรื่องไว้ตั้งแต่ก่อนคริสตศตวรรษที่ 17 เรื่อยไปจนถึงปีคริสตศักราช 2000 หลายต่อหลายเล่มเป็นผลงานระดับวรรณกรรมคลาสสิกของโลก และหลายต่อหลายเล่มก็ผ่านการได้รางวัลระดับแนวหน้าไม่ว่าจะเป็นรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม หรือรางวัลพูลิชเชอร์ ซึ่งหากจะสังเกตผ่านมุมมองของ Dr. Peter Boxall จะพบว่าหนังสือในคริสตศตวรรษที่ 19 ค่อนข้างมีสัดส่วนที่สูงกว่าช่วงอื่นๆ ที่ได้จัดเรียงเอาไว้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเพราะในยุคนี้มีรายชื่อของนักเขียนระดับโลกหลายคนชวนให้คุ้นหูอยู่ไม่น้อยในสายหูของนักอ่านหลายๆ คน
น่าเสียดายที่ชื่อหนังสือส่วนใหญ่นั้นกลับไม่เป็นที่รู้จักสำหรับประชาชนคนไทย ที่ใช้ชีวิตอยู่กับทางเดินกระแสหลักที่ถูกป้อนให้ด้วยสื่อไม่กี่ช่องทาง
คงเหมือนกับการที่ชายหนุ่มรู้สึกเสียดายที่มีคนไม่กี่คนชวนเพื่อนของเขาไปเดินห้างหรูเลิศใจกลางเมือง และเพื่อนก็อาจจะชอบและยินดีไปเสียด้วย โดยปฏิเสธคำเชิญชวนของณรวิตรที่ชวนไปดูงานนิทรรศการ "Platform, New Media Lab" โดยวิชญ์ พิมพกาญจนพงศ์, อริญชย์ รุ่งแจ้ง, ปรัชญา พิณทอง, สุทธิรัตน์ ศุภปริญญา, อังกฤษ อัจฉริยะโสภณ ศิลปินชาวไทย กับ Alex Davies และ Ryan Griffith อีกสองศิลปินชาวออสเตรเลีย ที่ The Queen Gallery เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา
เหมือนกับใครหลายคนรวมถึงคนรักของณรวิตรเองรู้จักแค่แม่น้ำเจ้าพระยา สถานที่ซึ่งสวยงามและก่อให้เกิดบทเพลงของวงสุนทราภรณ์ โดยหารู้ไม่ว่ายังมีแม่น้ำบลู ดานูบ (Blue Danube) ที่สดสวยเพียงใด และมีที่มาที่ไปอย่างไรจนกลายมาเป็นบทเพลงชื่อก้องโลกของโยฮัน สเตร้าทส์ (JOHANN STRAUSS)
คงจะดีถ้ามีนักแปลตามไล่แปลหนังสือเหล่านี้เป็นภาษาไทยให้หมด และมีสำนักพิมพ์ไล่พิมพ์หนังสือเหล่านี้ด้วยเช่นกัน เผื่อบางทีเราจะได้มีนักอ่านตามไล่อ่านหนังสือเหล่านี้ให้ได้ก่อนจะหลับตาตาย

แตกต่างลิบลับกับสังคมที่ถือว่าครอบครองพื้นที่วัฒนธรรมในเขตประเทศไทยไว้เกือบทั้งหมดอย่างสหรัฐอเมริกาที่ใครหลายคนชื่นชมอย่างไม่ระแวงสงสัย และใครอีกหลายคนคิดขวางอย่างแข็งขืน หากเมื่อจะลองยกข้อดีอย่างน้อยที่สุดเช่นเรื่องหนังสือและงานวรรณกรรม ณรวิตรรู้มาว่าหนังสือประกอบการเรียนการสอนของเด็กมัธยมทั่วทั้งประเทศเสรีแห่งนี้บรรจุวรรณกรรม บทกวี บทสารคดี บทละครและอื่นๆ อีกมากมาย ไว้ในหนังสือเล่มหนาห่อหุ้มด้วยปกสีสันสวยงามน่าเปิดอ่าน และเคลือบไว้ด้วยความภาคภูมิใจของคนทั้งประเทศถึงงานของนักเขียน และตัวของนักเขียนเองอย่างประหลาดลิ้น และผนวกเข้าเป็นหนึ่งในรายวิชาที่แม้แต่เด็กมัธยมยังต้องเรียนรู้ และเลือกอ่านได้อย่างอิสระ ชายหนุ่มนึกท้อถอยที่บางครั้งงานศิลปะในเขตประเทศขวานทองห่อผ้าลายอเมริกันของเรานี้ทำไมถึงได้รับเกียรติอันน้อยนิดในสายตาของผู้ร่างลายเส้นสมองให้แก่เยาวชน ไม่น่าแปลกถ้าเขาอาจจะถูกตอกหน้ากลับมาโดยเพื่อนร่วมชาติหลากล้นจนนับไม่ทันถ้วนดีว่า "ท้องยังไม่ทันอิ่ม จะรีบไปนั่งยิ้มดูโอเปร่าหาสวรรค์อะไร!" ชายหนุ่มรู้เหตุผลหลักข้อนี้ดี รู้และเข้าใจทั้งๆ ที่เห็นตำตาว่าคนร่ำรวยที่ร่ำรวยจนคนที่ได้เฉียดชีวิตเข้าไปใกล้ต้องน้ำลายสอนั้นก็มากโขมิใช่หรือ? แต่จะว่าไปคนยากจนที่ยากจนแสนทุกขเวทนาจนน่าน้ำตาสอก็ยังยืนหน้าสลอนเหมือนมีสัดส่วนไม่ต่างกันและอาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ คนรวยก็ร่ำรวยจนสามารถเอาขาชี้ขึ้นแตะฟ้า คนจนก็ยากจนจนทำได้แค่เอาใบหน้าก้มแตะดิน เอานิยายอะไรกับประเทศกึ่งดิบกึ่งสุกผืนนี้ เขาทำใจให้คล้อยตามถึงเหตุผลนั้นไม่ได้ และไม่เคยได้สักที

น้ำแข็งก้อนหนึ่งในแก้วกาแฟเย็นละลายตกลงในช่องว่างของน้ำแข็งก้อนอื่นๆ เสียงดังจนเรียกสติของชายหนุ่มกลับมาอีกครั้ง จนแล้วจนรอดภายในหัวของณรวิตรก็ยังว่างเปล่าสรุปไม่ได้เสียทีถึงของขวัญชิ้นพิเศษสำหรับคนรักของเพื่อน ถ้าเขาแนะนำให้เพื่อนมอบหนังสือให้คนพิเศษสักเล่มจริงๆ เธออาจจะออกปากบ่นเอาได้ว่าหนังสือวรรณกรรมเยอรมันของ Kafka ไม่ได้เหมาะกับเธอสักนิด หรือหนังสือชวนหัวของ Kundera ทำให้เธอกลายเป็นคนมองโลกผิดแผกไปจากคนอื่น ทำให้อยู่ร่วมสังคมที่น่าอยู่ร่วมนี้ยากเย็นยิ่งขึ้น วรรณกรรมของกนกพงศ์เพื่อชีวิตเกินไปจนอยากจะปลีกวิเวกไปใช้ชีวิตตามชนบท หรือที่ร้ายกาจที่สุดเธอออาจสบถถ้อยคำผรุสวาทที่สุดจะคาดเดา แล้วชี้แจงให้เห็นว่าเธอไม่รู้จักหนังสือเหล่านั้น เธอต้องการหนังสือดาราบันเทิง ชีวิตรันทดอันน่าภูมิใจของสาวไซด์ไลน์ หรือหนังสือวิธีการบอกเลิกแฟนให้ได้ภายในห้าวันมากกว่า (!!?) นั่นอาจเป็นเพราะเธอเคยชินกับสภาพแวดล้อมกระแสหลักที่สอนให้เธอสะกดคำว่า-ชีวิต-ในแบบนั้นโดยเธอไม่สามารถโต้แย้งและมีทางเลือกอื่น หรือหากมีก็ยากจะเข้าถึง (โดยหารู้ไม่ว่ามีวิธีการสะกดคำว่า-Shewith-มากกว่านั้นหลากหลายรูปแบบ) หรือหากเข้าถึงได้ก็คงไม่กล้า หรือหากกล้าก็คงถูกสังคมโดยรวมหันหน้ามามองอย่างลังเลสงสัย หรือหากพวกเขาไม่ลังเลสงสัย...
หรือหาก...
หรือหาก...
หรือหาก...
...คนเรามีทางเลือกที่หลากหลายและยอมรับในความแตกต่างของแต่ละบุคคลได้!

เอาหล่ะ! ณรวิตรกล่าวเสียงดังกับตัวเองและเพื่อนไปพร้อมๆ กัน
“ถ้าอยากซื้อหนังสือให้จริงๆ โทรไปถามตาลุง Peter Boxall บางทีเขาอาจช่วยอะไรคุณได้ เขาค่อนข้างรอบรู้เรื่องเหล่านี้ทีเดียว” ชายหนุ่มอมยิ้มแล้วรีบตัดสายปิดเครื่องไป โดยยังคงมีเพื่อนที่คงกำลังทำหน้างุนงงอยู่อีกปลายสายที่ขณะนี้ห้อยร่องแร่งอยู่
กาแฟในแก้วกลับมาอร่อยอีกครั้ง แม้น้ำแข็งจะละลายไปหมดแล้ว...


รายชื่อหนังสือใน “1001 Books You Must Read Before You Die”