24 May 2012

-: Space และบางแง่มุมของชาตรี :-

“เขาพบว่าเมื่อคนเราถูกจำกัดอยู่ในกฏกรอบใดๆ มากเกินไป ก็จะเผยธาตุแท้แห่งมนุษย์ออกมา”

ชาตรีกำลังนั่งเขย่าขาตามจังหวะดับเบิ้ลเบสอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สองหูถูกเสียบคาไว้ด้วยเครื่อง Mp3 ที่กำลังส่งเสียงเพลงจังหวะนุ่มไพเราะอย่าง Dream a little Dream of me ของ Nat King Cole นักร้อง นักเปียโนแจ๊สชาวอเมริกัน พระอาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้าแล้ว ผู้คนที่เดินผ่านหลังเขาเริ่มน้อยลงทุกทีๆ จนสักพักก็เหลือเพียงถนนว่างเปล่า เขายังคงปล่อยสายตาเหม่อลอยออกไปไกลแสนไกล

ท่ามกลางสังคมที่หมุนเร็วจนน่าเวียนหัว ผู้คนต่างเร่งรีบ แย่งกันกิน แย่งกันเดิน แย่งกันหายใจเช่นนี้ การนั่งปล่อยอารมณ์โดยไม่แคร์สายตาใครอย่างที่ชาตรีทำ อาจสร้างความสงสัยและรำคาญใจให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมาในบริเวณนั้นได้ไม่น้อย ทั้งๆ ที่จริงแล้วมนุษย์ทุกคนกลับต้องการเพียงมุมสงบเล็กๆ ให้ตัวเองได้ตื่นขึ้นมาแล้วมีอาหารกิน มีที่อยู่อาศัย มีเสื้อผ้าใส่ มียารักษาโรค และที่สำคัญคือมีความสุขใจเพียงแค่นั้นไม่ใช่หรือ? แล้วชาตรีผิดตรงไหน ถ้าต้องการมีพื้นที่ส่วนตัวเล็กๆ หลังวันทำงานอันหนักหน่วง?

Space - ในความหมายเชิงปัจเจกบุคคล
ตัวตน (Self) และอัตลักษณ์ (Identity) เป็นคำที่มีความหมายเกี่ยวข้องกันและมีความสัมพันธ์กับวิชาหลากหลายแขนงทางสังคมศาสตร์ ทั้ง สังคมวิทยา มานุษยวิทยา จิตวิทยา และปรัชญา โดยซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) จิตแพทย์ผู้คิดค้นแนวคิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ได้ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์มิได้เป็นสัตว์ที่มีเหตุผลดังเช่นที่พวกเขาเชื่อหรืออยากเป็น หากแต่ความคิดของมนุษย์ถูกกำหนดโดยพลังแห่งจิตไร้สำนึกที่ซ่อนเร้นและหลุดรอดจากความเข้าใจของมนุษย์ตลอดมา

เขาพบว่าเมื่อคนเราถูกจำกัดอยู่ในกฏกรอบใดๆ มากเกินไป ก็จะเผยธาตุแท้แห่งมนุษย์ออกมาผ่านการกระทำ ความคิด ความเชื่อ หรือเรื่องราวเกี่ยวกับตัวตน ซึ่งจะถูกกำหนดให้แสดงออกโดยจิตไร้สำนึก (unconscious), แรงขับ (driver) และความปรารถนา (desire)

และอันที่จริงแล้วการแสดงออกของมนุษย์เมื่อสูญเสียพื้นที่ส่วนตัวให้แก่พื้นที่สาธารณะมากเกินไป จะไม่ใช่เพียงการนั่งติสต์แตกห้อยขาอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนชาตรีทำแต่เพียงอย่างเดียว เพราะตามเงื่อนไขของฟรอยด์นั้น มนุษย์จะมีกลไกที่ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันพื้นที่ส่วนตัวของตนเองที่เรียกว่า ‘Ego Defense Mechanism’ ซึ่งประกอบไปด้วย

  1. การไม่ตัดสินใจเลือกข้างใดข้างหนึ่ง (Ambivalence) เป็นสภาวะที่ Ego ไม่ตัดสินใจเลือกข้างใดข้างหนึ่งให้เด็ดขาดลงไป แต่จะตกอยู่ในสภาวะสองจิตสองใจ
  2. ปฏิกิริยาการหลบหนี (Avoidance) เป็นปฏิกิริยาการหลบหนีจากวัตถุ ผู้คน หรือเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องเจ็บปวด เนื่องจากต้องข่มความรู้สึกที่พลังทางเพศและความก้าวร้าวอันแฝงอยู่ในจิตไร้สำนึกถูกกระตุ้นให้สำแดงความปรารถนาออกมา
  3. การหยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง (Fixation) เป็นสภาวะที่หยุดอยู่กับที่ไม่ยอมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปเพราะประสบการณ์อันเจ็บปวด (Trauma) เช่น ชาตรีที่เคยสูญเสียพ่อแม่ก็จะไม่สร้างความรักกับใครอีกเลยแม้แต่พอลล่า เทเลอร์ หากจะเกาะยึดอยู่กับความรู้สึกสูญเสียที่เกิดขึ้น
  4. การเลียนแบบ (Identification) คือการปรับตัวโดยการเลียนแบบบุคคล หรือสิ่งของที่ตนชื่นชอบ โดยการพยายามปรับเปลี่ยนด้วยความรู้สึกทางจิตใจ มิใช่เพียงพฤติกรรมเท่านั้น เช่นการที่ชาตรีแสดงพฤติกรรมให้เหมือนกับชาลี (ใคร?) ซึ่งอาจเป็นดารา นักแสดงหรือตัวละครต่างๆ
  5. การป้ายความผิดให้ผู้อื่น (Project) คือการลดความวิตกกังวล โดยการโยนหรือป้ายความผิดไปให้กับผู้อื่น
  6. การแสดงปฏิกิริยาตรงข้ามกับความปรารถนาที่แท้จริง (Reaction Formation) คือการที่แสดงออกในสิ่งที่ตรงข้ามกับที่ตนรู้สึก เพราะคิดว่าสังคมอาจยอมรับไม่ได้
  7. การเก็บกด (Repression) เป็นการเก็บความรู้สึกผิด ความคับข้องใจเอาไว้ในจิตใต้สำนึกจนกระทั่งลืม ซึ่งการเก็บกดนี้หากต้องเก็บความรู้สึกเอาไว้มากอาจทำให้เป็นโรคประสาทได้
  8. การขจัดความรู้สึก (Supersession) มีลักษณะคล้ายกับ Repression แต่เป็นกระบวนการขจัดความรู้สึกดังกล่าวออกไปจากความคิด และเป็นกระบวนการที่เกิดอย่างที่ผู้กระทำมีความรู้ตัวและตั้งใจ ในขณะที่ Repression นั้นไม่รู้ตัว
  9. การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) คือการหาเหตุผล หาคำอธิบาย มาอ้างอิง มาประกอบการกระทำของตนเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น
  10. การชดเชยหรือการทดแทน (Substitution/Compensation) การชดเชยหรือการทดแทนด้วยการหาทางออก ในอันที่จะแสดงความต้องการของตน เช่น ชาตรีต้องการระบายความก้าวร้าวก็หันไปเล่นกีฬาทดแทน หรือวิพากษ์วิจารณ์ศิลปะ เป็นการชดเชยในสิ่งที่สังคมยอมรับได้
  11. การถดถอย (Regression) คือการหนีกลับไปอยู่กับสภาพอดีตที่ตนเคยมีความสุข เช่น ผู้ใหญ่เมื่อเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดก็แสดงอาการกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง 
  12. การสร้างวิมานในอากาศ หรือการฝันกลางวัน (Fantasy / Day Dreaming) คือการคิดฝัน หรือสร้างวิมานขึ้นเองเพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่สามารถเป็นจริงได้
  13. การแยกตัว (Isolation) คือการแยกตัวให้พ้นจากสถานการณ์ที่นำความคับข้องใจมาให้ โดยการแยกตนออกไปอยู่ตามลำพัง
  14. การหาสิ่งที่มาแทนที่ (Displacement) คือ การระบายอารมณ์โกรธ หรือคับข้องใจต่อคนหรือสิ่งของที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุของความคับข้องใจ

ผลลัพธ์ของการมีขอบเขต Space ในเผ่าพันธุ์มนุษย์ 
ในบทความเรื่องย้อนรอยมวลหมู่มนุษยชาติของเจมส์ ชรีฟ ได้เผยให้เรารู้ว่าบรรพบุรุษมนุษย์ไม่กี่ร้อยคนมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่แอฟริกา ก่อนที่จะเดินทางมุ่งไปทางตะวันออกเมื่อราว 200,000 ปีที่แล้ว และการแยกย้ายไปยังทวีปต่างๆ นี้เอง ที่ทำให้มนุษย์มีรูปร่างหน้าตาและเชื้อชาติใหม่ๆ เกิดขึ้น จนจบลงด้วยจำนวนประชากรบนพื้นโลกราว 7,000 ล้านคนในปัจจุบัน 

หนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเดินทางออกจากแอฟริกาของบรรพบุรุษ มาจากการขาดซึ่ง Space ส่วนตัวเมื่อจำนวนของประชากรต่อพื้นที่เริ่มหนาแน่นขึ้น เช่นเดียวกับการย้ายที่อยู่อาศัยของคนกรุงเทพฯ จากเมืองหลวงไปสู่หัวเมืองใหญ่ที่ยังพอมีสาธารณูประโภคให้ใช้อย่างสบายมือและไม่ต้องไปรบรากับคนหมู่มาก อย่าง เชียงใหม่ พัทยา รวมไปถึงหัวหิน เหมือนที่ชาตรีเคยเอ่ยปากกับผมอยู่ครั้งหนึ่ง “เฮ้ย! กูอยากจะไปใช้บั้นปลายชีวิตที่เชียงใหม่ว่ะ” ก่อนที่ผมจะสวนกลับไปว่า “เขาไม่ต้อนรับมึงหรอก” แต่ห้ามชาตรีอย่างไรก็คงยาก เพราะตามแผนที่การเดินทางของมนุษย์ได้บอกแก่เราว่า การย้ายถิ่นฐานเพื่อเพิ่มพื้นที่ส่วนตัวให้ตนเองจะยังคงมีอยู่ตลอดไปตราบใดที่มนุษย์ยังไม่ได้เป็นสัตว์สังคม

การอพยพจาก Private Space สู่ Public Space 
จากข้อมูลเหล่านี้ได้ช่วยไขข้อข้องใจให้ชาตรีได้ไม่น้อย เพราะใครหลายคนรวมถึงเขาคงเคยสงสัยอยู่ว่า ถ้ามนุษย์ต้องการพื้นที่ส่วนตัวจริง แล้วทำไมสังคมในรูปแบบ Public Space อย่าง Hi5, mySpace รวมไปถึง Facebook ของหนุ่มมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) จึงได้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมๆ กับเสียงตอบรับอันล้นหลาม แม้แต่ชาตรีก็มีกับเขาไปด้วย 

ซึ่งถ้าหากมองให้ดีแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ได้แตกต่างอะไรกับการอพยพของผู้คนจากโลกใบจริงไปสู่โลกเสมือน เพราะในปัจจุบันนี้โลกใบจริงเริ่มมีข้อจำกัดและริดรอนสิทธิการแสดงออกถึงเรื่องส่วนตัวมากขึ้น จนสร้างความรำคาญและความอึดอัดใจให้แก่ผู้อยู่อาศัย แต่เมื่อข้อจำกัดด้านทุนทรัพย์และวัฒนธรรมสมัยใหม่เริ่มบังคับไม่ให้ผู้คนโยกย้ายถิ่นฐานไปไหนต่อไหนตามใจแบบยิปปี้ การแพ๊กกระเป๋าแล้วเดินทางสู่โลกเสมือนจึงได้เริ่มต้นขึ้น

บทสรุป 
เพราะความผิดเพี้ยนในจิตใจมนุษย์อาจเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ครั้งที่โลกได้พลิกเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมทุนนิยมอุตสาหกรรม กฎระเบียบอันยุ่งเหยิงได้สร้างเงื่อนไขให้ชาตรีและมนุษย์เราแบกรับไว้อย่างเลี่ยงไม่ได้ ต้องทำงานก็ต้องตื่นแต่เช้า ต้องมีเงินก็ต้องขวนขวายทำงานหนัก ต้องทำงานหนักก็ต้องเหนื่อย และเมื่อต้องเหนื่อย ชาตรีก็จำเป็นต้องใช้ชีวิตอย่างไร้ความสุข ขณะนี้ชาตรีกำลังนั่งเขย่าขาตามจังหวะดับเบิ้ลเบสอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปหมดทั้งดวงแล้ว ถนนเส้นเดิมที่ชาตรีนั่งยังคงว่างเปล่า 

เขาลุกเดินไปสตาร์ทรถยนต์คันหรู แล้วเริ่มขับเข้าไปหาความวุ่นวายบนพื้นที่ส่วนรวมอีกครั้งอย่างเลี่ยงไม่ได้… บ้ายบายชาตรี พรุ่งนี้เจอกัน! 

บรรณานุกรม 
1. เอมอร ลิ้มวัฒนา. พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ส่วนตัว และเรื่องตัวตนบนไซเบอร์สเปซ ใน บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน. 2551. 
2. ไชยันต์ ไชยพร. Post Modern Man คนกับโพสต์โมเดิร์น. สำนักพิมพ์ openbooks. 2552. 
3. Fritjof Capra. The Turning Point: Science, Society, and the Rising Culture. Publisher: Bantam. 2527. 
4. เจมส์ ชรีฟ (James Shreeve). ย้อนรอยมวลหมู่มนุษยชาติ ใน National Geographic ฉบับภาษาไทย. มีนาคม 2549.

เผยแพร่ครั้งแรกที่ - คอลัมน์ Crush Archive นิตยสาร Crush Magazine (พฤษภาคม 2552)

18 May 2012

-: ไม่ใช่เรื่องแปลก :-

18/05/2555

เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องแปลก...

มีอะไรหลายอย่างที่รบกวนจิตใจของผมมาโดยตลอดการใช้ชีวิต คนเรามีอะไรบ้างที่เป็นนิสัยส่วนตัว อะไรบ้างไหมในตัวเขาที่คนในสังคมหรือคนรอบข้างไม่ยอมรับ มีใครบ้างไหมที่จะมาทำให้นิสัยส่วนตัวที่เขาอาจไม่ได้ชอบแต่ก็เป็นตัวเขาหายไป หรืออาจไม่หายแต่สามารถมองข้ามประเด็นกวนใจเหล่านั้นไปได้

มันไม่ได้ยากที่ใครบางคนนั้นจะเข้ามาทำให้เราได้รับความรู้สึกสบายใจลงตัว แต่ผมคิดว่ามันยากที่เราจะสามารถทำให้เขารู้สึกอย่างเดียวกันนี้กลับไปด้วยเช่นเดียวกัน... ความรักและความสัมพันธ์มันจึงเริ่มต้นขึ้น และมีปัญหากันอยู่ต่อไปในหลายๆ คู่ตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้ เชื่อสิว่าในอนาคตเทคโนโลยีก็ไม่ได้ช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ดีขึ้นไปกว่ายุคหินเท่าไรนัก

เช่นนิสัยส่วนตัวสำคัญอันหนึ่งที่คล้ายกับตัวผม ซึ่งผมไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าผมชอบมันรึเปล่า? และมันมีปัญหาในการใช้ชีวิตมากน้อยแค่ไหน? เพียงแต่หลายครั้งที่ผมอยากจะนั่งพักอยู่ลำพัง หรืออยู่กับคนรัก แค่นั้นห้ามมากไปกว่านี้ และเหม่อลอยออกไปไกลแสนไกล ในหูมีดนตรี ในมือมีปากกาและสมุดเล่มหนึ่งไว้คอยขีดเขียนและวาดเส้นเล่นโดยที่ผมไม่รู้เหตุผลว่าทำไมและเพราะอะไร นั่นคือสิ่งที่นักจิตวิทยาผู้หนึ่งบอกกับผมว่า คนในลักษณะนี้เป็นคนที่ในส่วนลึกแล้วเพิกเฉยและรำคาญสังคม (นักจิตวิทยาผู้นั้นกล่าวว่าต่อต้านสังคม แต่ผมว่ามันดูรุนแรงไปกับจุดประสงค์ของคนอย่างผมและเพื่อนๆ อีกหลายคนที่เป็นแบบนี้)

นั่นคือเราไม่ชอบและไม่เห็นจะมีความจำเป็นอะไรที่ต้องไปร่วมวาทกรรมหรือกายกรรมตามธรรมเนียมที่ทุกคนดำเนินอยู่ เช่นผมเป็นคนรักประเทศไทยมาก อยากคิดและสร้างการพลิกเปลี่ยนสังคมให้เป็นไปได้ด้วยดีในบางประเด็นก็หลายครั้ง แต่ก็มองไม่เห็นว่าการเข้าแถวหน้าเสาธงจะมีผลอะไรกับลูกลิงลูกค่างที่ไม่ได้สำนึกในความเป็นชาติจากการยืนเหงื่อไหลหยอกเล่นกันอยู่ไม่กี่นาที หรือเช่นการที่ผมไม่เชื่อว่าระบบการศึกษาไทยที่เป็นอยู่จะสร้างบุคลากรคุณภาพต่อสังคม (เน้นว่าต่อสังคม) ให้เห็นได้มากเท่าไรนัก เพื่อนฝูงแวดล้อมของผมที่จบปริญญาดีๆ สุดท้ายตายไปกับทิฐิบางประการก็เยอะ เพื่อนที่ร่ำเรียนมาน้อยกลับเป็นพระที่ดี เป็นคนที่เข้าร่วมกิจกรรมช่วยสังคม หรือร่ำรวยเป็นเศรษฐีใจบุญก็มาก หรือการที่ทุกคนต้องไปยืนอยู่ในห้างสรรพสินค้าหรูเลิศกลางเมือง แต่งตัวสวยงามตามระบบสังคมและตีตราคนใส่รองเท้าแตะผ้าเก่าขาด กางเกงม่อฮ่อม เสื้อขาวซีดย้วยที่ไปเดินอยู่กลางพารากอนว่าเป็นคนไร้สกุลอันน่าสมเพศ (ผมเคยแต่งตัวแบบนี้ไปที่พารากอนเพื่อการทดลองและถูกมองเช่นนี้จริงๆ)

ผมสรุปไปเพียงว่าการที่เราเพิกเฉยต่อสังคม (ทั้งๆ ที่บางครั้งก็จำเป็นต้องเข้าร่วม) เพียงเพื่อไม่ได้เห็นความจำเป็นและชื่นชมว่าการใช้ไม้บรรทัดแบบนั้นแบบนี้ที่เขาวัดกันไปกันมา มันจะเที่ยงธรรมและสร้างผลดีต่อโลก ผลก็คือกฏแห่งสังคมที่ใช้พิพากษากันจริงๆ อย่างกฏหมายกลับกลายแป็นเรื่องที่น่าขันสำหรับบางคนไปได้ คนเรามักพิพากษาคนอื่นอย่างรวดเร็วด้วยไม้บรรทัดที่สังคมสร้างขึ้น ใครพวกมากชนะศึก ใครพวกมีอำนาจฉลาดสุด และกลับกลายเป็นการสร้างสังคมช่างติของนักวิจารณ์แบบพวกมากลากไปก่อฟืนสุมไฟเผาแม่มดแบบที่เห็นกันอยู่ตามสังคมเสมือน (เดี๋ยวนี้คนเราขี้เกียจและรักการมีภาพลักษณ์กันขึ้นเยอะ) ผ่านช่องทาง Social Network ที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้

หลายครั้งจึงไม่แปลกที่ผมปิดช่องทางการสื่อสารทั้งหมดลงเสียดื้อๆ แม้จะดูไร้เหตุผลสำหรับบางคน หรือการที่ผมอยากจะนั่งพักอยู่ลำพัง หรืออยู่กับคนรัก แค่นั้นห้ามมากไปกว่านี้ และเหม่อลอยออกไปไกลแสนไกล ในหูมีดนตรี ในมือมีปากกาและสมุดเล่มหนึ่งไว้คอยขีดเขียนและวาดเส้นเล่นโดยที่ผมไม่รู้เหตุผลว่าทำไมและเพราะอะไร

จริงๆแล้วผมและพวกเราอีกหลายคนแค่เบื่อการอยู่ร่วมกับคนหมู่มากบางจำพวก ซึ่งมากเสียจนเดินชนไหล่กันได้นับไม่ถ้วน ความเห็นแก่ตัวที่ทุกวันนับเพิ่มทวีคูณขึ้น และกลับเชื่อเสียด้วยว่าเราอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงสังคมอันน่ากลัวนั้น

เพียงแต่เราไม่ขอพิพากษาใคร ไม่วัดมาตรฐาน หรือวิจารณ์ใคร แค่ในขณะที่ผมไม่อยากยุ่งกับสังคมเหล่านั้นเมื่อไร ขอผมมีพื้นที่ว่างเล็กๆ ไว้ให้นั่งทอดสายตาถอนใจ โลกส่วนตัวของผมที่ผมจะสามารถสบายใจและอยู่เงียบๆ ได้โดยไม่มีใครมาเหล่ตามองและตำหนิติโทษ โดยเฉพาะถ้ามีคนรักที่พร้อมจะเข้าใจในบางสภาวะนั้นให้ผมนั่งพิง และอ่านหนังสือ ฟังเพลง ขีดเขียนกันไปข้างๆ กันอย่างนั้น พอเบื่อตรงนั้นก็กระโดดไปเดินในพื้นที่สาธารณะกันใหม่ด้วยกัน

ผมว่าใครหลายๆ คน (ผมเชื่อว่ามีจำนวนไม่น้อยที่รู้จักตัวเองดีพอ) ที่เป็นในลักษณะคล้ายกันแบบนี้ แม้นักจิตวิทยาผู้นั้นจะเรียกมันว่าอาการต่อต้านสังคม แต่ผมก็ไม่ได้ทำให้ใครเดือดเนื้อร้อนใจและรับปากว่าจะไม่ทำแบบนั้นแน่ เพราะไม่เห็นมีความจำเป็นใดๆ

เพราะฉะนั้นการมองโลกในบางแง่มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลก...

14 May 2012

-: ความว่างเปล่า :-

22/09/2009

ระหว่างการเกิดถึงการตาย คนเราไม่ได้มีอะไรในชีวิต
อย่างมากที่สุดก็คงเพียงการใช้ชีวิตเพื่อทำให้ชีวิตอยู่รอด อย่างที่คนโบราณท่านคิดได้ว่า คนเราต้องการเพียงปัจจัย 4ในการดำรงชีวิตเท่านั้น

เพราะความว่าง มนุษย์เราจึงพยายามหาอะไรทำให้ตัวเองไม่ว่าง แต่การใช้ชีวิตตอบสนองต่อปัจจัย 4 ไม่ได้ทำให้อนาคตของชาติดีขึ้น ไม่ได้ทำให้เหล็กบินได้สูญพันธุ์ ไม่ได้ทำให้โลกใบนี้หมุนเร็วขึ้น... คนเราจึงได้เริ่มขยับตัวเพื่อการสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาบนโลก เพื่อที่วันๆ หนึ่งจะได้ไม่ว่างเกินไปนัก โดยเฉพาะสิ่งหนึ่งคือการสร้างระบบสังคมที่กำลังวางตัวยุ่งเหยิงอยู่อย่างปัจจุบัน หลายคนหาทางออกด้วยการสร้างความเจริญ และเทคโนโลยี บางคนรักที่จะสร้างเสียงดนตรี ตัวหนังสือ หรือศิลปะ

คนที่ว่างไม่ได้ทำให้โลกหมุนช้าลง
คนที่ขยับไม่ได้ทำให้โลกหมุนเร็วขึ้น
แต่เพียงเพราะคนเราพยายามทำให้ตัวเองได้มีอะไรทำ นอกเหนือจากการนั่งว่างๆ

ไร้สาระ ไม่ใช่ไม่มีสาระ...
ความไร้สาระของ 2 พี่น้องตระกูลไรท์ในสายตาคนในยุคหนึ่ง ก่อให้เกิดยานพาหนะที่บินได้
ความไร้สาระของอัลเบิร์ต ไอน์ไสตน์พลิกหน้าประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์โลก
ความไร้สาระของดาไลลามะ สร้างความสงบ และสันติภาพให้กับโลก
ความไร้สาระของปิกัสโซ่ ส่งอิทธิพลอย่างรุนแรงต่องานศิลปะในยุคศตวรรษที่ 20

ระหว่างการเกิดถึงการตาย คนเราไม่ได้มีอะไรในชีวิต
และมนุษย์ถูกหลอกให้เชื่อว่า "เงิน" คือสิ่งสำคัญสูงที่สุดจนคำว่า "เงินซื้อทุกอย่างไม่ได้" เริ่มจะกลายเป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่มีน้ำหนัก... มนุษย์ใช้ชีวิตเพื่อกอบโกยเงินทองเข้าตัว จนทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายมากมายในสังคมมนุษย์ อย่างน้อยก็ความวุ่นวายในชีวิตของพวกเขา... โดยอาจจะลืมไปว่าเมื่อพวกเขาตาย (ซึ่งก็ไม่ได้เป็นการรอคอยที่ยาวนานนัก) เมื่อวันนั้นมาถึง เงินที่แสนมีค่าของเขาจะมีค่าพอที่จะจ่ายให้หัวใจกระตุกเต้นขึ้นได้อีกครั้งหรือไม่

มนุษย์มีความสามารถที่จะเลือกใช้ความว่างของชีวิตตามสิ่งที่พวกเขาเชิ่อ ภายใต้สังคมยียวนกวนประสาท ที่ตัดสินชี้ขาดทุกสิ่งด้วยเงิน
อำนาจเงินที่พวกเราต้องเอาไปเปรียบเทียบดุลกับชาติซีกโลกตะวันตก หรือกับคนกลุ่มเดียว
ความเจริญที่พวกเราต้องเอาไปเปรียบเทียบขนาดกับชาติซีกโลกตะวันตก หรือกับคนกลุ่มเดียว
มาตรฐานที่พวกเราต้องเอาไปเปรียบเทียบค่ากับชาติซีกโลกตะวันตก หรือกับคนกลุ่มเดียว
วัฒนธรรม และความคิดที่เรากำลังจะเออออไปตามชาติซีกโลกตะวันตก หรือกับคนกลุ่มเดียว
ด้วยหน่วยวัดความเจริญ และบรรทัดฐานที่พวกเราไม่ได้สร้างขึ้นเองเลยแม้แต่นิดเดียว...
แม้ใครหลายคนจะไม่เชื่อแบบนั้น

มนุษย์เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอะไรมากไปกว่าปัจจัย 4 ใครหลายคนเถียง แต่ผมเชื่ออย่างนั้น น่าเสียดายที่ความเชื่อนี้ไม่สามารถถูกโน้มน้าวให้เชื่อได้มากนักในสังคมปัจจุบัน เพราะปัจจัย 4 ทุกอย่างก็ถูกมนุษย์ตั้งราคาด้วยเงินไว้หมดแล้ว

ระหว่างการเกิดถึงการตาย คนเราไม่ได้มีอะไรในชีวิต
ใช้ชีวิตอยู่ในความว่างนี้ให้ลงตัว มนุษย์เราไม่จำเป็นต้องขยับทุกวัน พักบ้างก็ได้
ใช้ชีวิตให้ตัวเองมีความสุข ก่อนที่จะต้องปล่อยโลกใบนี้ให้คนรุ่นหลังรับช่วงความว่างนี้ต่อไป...


2 May 2012

หัดเดิน

มีนาคม 2547

วันนี้ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า... หากจะลองเทียบอายุของเรากับอายุของโลกทั้งใบ เราก็ยังคงเป็นเด็ก เด็กที่ยังไม่เคยได้ลองใช้ชีวิตมากมายนัก หรืออาจเคยได้ใช้แต่ก็ยังคงไม่เคยลองใช้ชีวิตเพื่อเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งในการผลักดันความเจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่กำลังพัฒนาผืนนี้ กำลัง... ฟังดูเหมือนเป็นการให้กำลังใจประเทศที่ยังไม่พัฒนา ว่าตอนนี้ประเทศของเรากำลัง... พยายามอยู่อย่างเต็มที่ (ไม่ต้องห่วง)

สังคมมนุษย์เรานี่ก็แปลก หากมองดูกิจกรรมระหว่างช่วงการเกิดถึงการตาย ความจริง... เราก็กำลังนั่งอยู่บนความไม่มีอะไรในชีวิต หากไม่มีงาน ไม่มีความต้องการที่จะใช้เงิน ไม่มีรัฐบาล ไม่มีกระทรวงกลาโหม ไม่มีธนาคารโลก ไม่มีประเทศไทย ไม่มีประเทศสหรัฐอเมริกา... ชีวิตของเราก็คงไม่มีอะไรนอกจากการทำให้ตัวเองมีชีวิต
ก็คงแปลกตรงที่ มันมีอะไรๆ สำหรับชีวิตอีกหลายชีวิต

วันหนึ่งหลังจากการเกริ่นกับหลายๆ มนุษย์รอบกายไว้ว่า ผมจะไม่มีอะไรอย่างนี้ซักระยะ หนึ่งเดือน, สามเดือน หรืออาจจะครึ่งปี ไม่ต้องรีบเดินเหมือนอย่างที่ใครๆ หลายคนกำลังรีบเดินกันอยู่ในสังคมสมัยใหม่ ไม่ต้องหายใจเอากลิ่นความวุ่นวายมากมายเข้าสมอง ไม่ต้องทำตัวเป็นเฟืองที่ช่วยเข็นกลไกความเจริญของประเทศ
... ถึงไม่มีเฟืองตัวนี้ เศรษฐกิจโลกก็คงไม่ถึงคราวล่มสลาย

ใครๆ หลายคนรับฟังแล้วกล่าวเตือน โฆษณาตามสื่อโทรทัศน์และวิทยุมากมายกล่าวเตือน ผู้ใหญ่และมนุษย์รอบกายมากมายกล่าวเตือน... จะทำตัวว่างให้มันได้ประโยชน์อะไร? คนเราเกิดมามีชีวิตได้เพียง 20,000 กว่าวัน ชีชีวิตให้คุ้มหรือยัง?

ก็ในเมื่อความคุ้มยังไม่มีเครื่องตวงและมาตราช่างวัด การนอนหายใจรดที่นอนตัวเองทั้งชีวิตก็สามารถคุ้มได้เหมือนกัน หากใช้การตวงของบางมนุษย์... ถ้าหากประโยชน์คือเงิน... มันคงฟังดูน่ากลัวที่เราจะไม่ได้ประโยชน์เหล่านั้น ประโยชน์ซึ่งสังคมและหมู่มนุษย์ร่วมกระแสในเวลาเดียวกันเกือบทั้งระบบกำลังบูชาปัจจัยนี้อยู่

คงต้องมีความจำเป็นมากน้อย ที่เราต้องลุกขึ้นมาหัดเดินให้เหมือนหมู่มนุษย์ร่วมกระแส วันนี้ผมจึงจะเริ่มหัดเดิน ผมอาจยังเดินไม่ค่อยเก่งนักทั้งในตัวผมและสำหรับโลกภายนอก ระหว่างทางมีมนุษย์หลายคนกำลังเดินผ่านผมไปและแซงขึ้นหน้าไปหมดแล้ว ผมจึงหันหลังให้ แล้วออกเดินนำหน้าพวกเขาไปในอีกทิศทาง สักพักหันกลับไป ผมพบว่าผมนำเขามาไกลแล้ว...

1 May 2012

ณ จุดเริ่มต้นของหนังสือ

เมษายน 2548

เช้าวันนั้น เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นทำลายความเงียบภายในห้องและความว่างเปล่าของหัวสมอง เสียงจากปลายทางกล่าวซักถามผม 2 ถึง 3 คำถาม ผมกล่าวตอบ 2 ถึง 3 คำตอบ หลังจากวางหูไปได้ไม่นาน ผมรู้สึกว่าหัวอันว่างเปล่าของผมเริ่มถูกซุกด้วยก้อนความคิดมากมาย หัวใจของผมพองโตขึ้น พองโต... จนความรู้สึกของผมปิดมันไว้ไม่อยู่

ผมได้รับโอกาสและช่องทางดีๆ ลากไปยังชีวิตที่น่าจะมีความสุขในอนาคต เป็นเส้นทางสีขาวที่ดูสวยทั้งในยามหลับตาและลืมตา เส้นทางที่ผมเฝ้าฝันมานาน... เส้นทางที่ผมจะได้เริ่มต้นอาชีพนักเขียน และเผยงานเขียนที่ผมรักนั้นสักที

ผมสงสัยว่าทำไมผมถึงมีความสุขในงานเขียนอย่างนั้น?

ผมถูกเลี้ยงมาในครอบครัวนักอ่าน อ่าน แล้วก็อ่าน ทุกๆ ปี หนังสือในบ้านจะเพิ่มจำนวนขึ้นคล้ายการแบ่งตัวของอะมีบา ผมไม่รู้ว่าเปรียบเทียบเกินไปหรือเปล่า แต่ในสายตาของเด็กตัวเล็กๆ ในตอนนั้น ผมหลงเข้าใจไปจริงๆ ว่า หนังสือให้สามารถให้กำเนิดหนังสือกันเองได้

ภายหลังจากการเติบโตขึ้น เวลาทั้งวันของผมหมดไปกับการนั่งมองหนังสือในตู้กระจกใหญ่ ผมได้แต่เอียงคอมองซ้ายที ขวาที และรับรู้ในที่สุดว่า ภายใต้ตู้กระจกข้างหน้านี้มีโลกอันกว้างใหญ่ไพศาลกองพะเนินกันอยู่ อะมีบาของผมกำลังนอนเกยกันอยู่ในนั้นนั่นเอง

“บุคลากรในประเทศของเรายังอ่านหนังสือกันน้อยมาก” ผมได้ยินคำกล่าวอ้างเช่นนี้มานานหลายปีแล้วจนบางครั้งผมรู้สึกคล้อยตาม เพื่อนร่วมประเทศของผมอ่านหนังสือกันน้อยเกินไปจริงๆ หรือเปล่า? ทั้งที่พวกเขามีโอกาสและไม่มีโอกาส บางครั้งผมอดเผลอคิดไม่ได้ว่าประเทศของเราจะอยู่ได้อย่างไรในเมื่อคนหลายคนยังไม่สนใจที่จะเปิดประตูตู้กระจกหลังนั้น...

...ผมเลือกที่จะเชื่อว่า โลกของเราหมุนเร็วด้วยแรงมือแห่งเทคโนโลยีและถูกทำให้กลมกลึงสวยงาม สมส่วน คล้ายกับการปั้นเครื่องปั้นดินเผา ด้วยอีกมือของศิลปะ ผมเลือกที่จะเชื่อว่า ผมสามารถทำให้โลกสวยงาม กลมกลึง สมส่วนได้ และผมมีความสุขที่ได้ทำในสิ่งเหล่านั้น แม้ว่าตามหลักวิทยาศาสตร์ ใครหลายคนเชื่อกันว่าดวงจันทร์ที่เป็นบริวารของโลกจะมีอยู่ดวงเดียว ที่คอยทำหน้าที่ทางธรรมชาติให้ดาวเคราะห์สีน้ำเงินแห่งนี้ดำเนินไปอย่างที่พวกเขารู้กัน

แต่ผมเลือกที่จะเชื่อว่า โลกมีดวงจันทร์พิเศษเพิ่มขึ้นอีก 2 ดวงที่ผมสามารถมองเห็นได้ คือดวงจันทร์เทคโนโลยี และดวงจันทร์ศิลปะ

มีขึ้น มีลง ตามแรงโน้มถ่วงของจิตใจ มีแรงดึงดูดระหว่างมวล... มนุษยชาติด้วยดวงจันทร์ทั้ง 2 ดวงนี้ มีเดือนเต็มดวง เดือนเสี้ยว และเดือนแรม คล้ายกับจะบอกว่ามนุษย์มีทั้งความสมบูรณ์ในทั้ง 2 ศาสตร์นี้ และไม่มี! มีความสุกสว่าง สกาวใส ในแต่ละวัน แต่ละช่วง แต่ละยุค แต่ละสมัย แตกต่างกัน แม้ว่าในช่วงนี้ดวงจันทร์ดวงที่ทำให้โลกหมุนแรงจะดูโดดเด่นและสุกสกาวมากกว่า... แต่ผมก็ยังเชื่อว่าดวงจันทร์อีกดวงที่ทำให้โลกกลมกลึงสวยงามก็ยังคงเผยแสงสว่างและทำหน้าที่ของมันอย่างดีที่สุดอยู่

ไม่มีวันทิ้งกัน ขาดกันไม่ได้...

ลึกลงไป ผมเลือกที่จะหลงไหลส่วนหนึ่งของดวงจันทร์ศิลปะนั่นคือสะเก็ดดาวงานเขียนและงานวรรณกรรม ผมเลือกด้วยเหตุผลหนึ่งที่ว่า ผมขาดมันไม่ได้... อาจไม่ใช่เหตุผลที่ฟังดูสมเหตุสมผล แต่ผมเชื่อว่างานศิลปะทุกแขนงย่อมช่วยประโลมโลก เช่นเดียวกับเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนโลก

อะมีบาของผมทิ้งโลกนี้ไปไม่ได้!