21 January 2008

-: ความง่วงของคนอื่น :-

-: ความง่วงของคนอื่น :-


ก่อนช่วง ดวงอาทิตย์ จะนิทรา
เส้นขอบฟ้า พาดสาย กับปลายเสา
ลดช่วง ร่วงเลื่อน เคลื่อนหนักเบา
กระตุกเอา เสาล้มทับ กับราตรี
ราตรีแตก กระจายตัว ทั่วท้องฟ้า
เป็นดารา พราววับ สลับสี
สลับเส้น เต้นเตร่ บนเวที
ม่านเคลื่อนคลี่ คลายลาก เปิดฉากคืน
.....

อีกไม่กี่ช่วงเดิน อีกไม่เกินช่วงตื่น
จะล้มทับรับรื่น กับเนื้อนุ่มเนินหมอน
ช่างเหนื่อยเหน็ดเข็ดหน่าย จะแกล้งตายทำนอน
ไม่สนเย็นสนร้อน ไม่อยากรู้ดินฟ้า
มากคำถามตามติด ธุรกิจธุรกา
แม่พ่อลุงหลานป้า ใครจะด่ารดหัวใคร
จะไม่ยุ่งการเมือง เรื่องของเด็กตัวใหญ่
จะเกลียดไทยจะรักไทย ท้องไม่เห็นหายร้อง
คนรักจะเลิกรัก ไม่สมัครร่วมห้อง
จะไม่หวังปรองดอง ขอเพียงเตียงยังฟู
ใกล้จะถึงบ้านใกล้ แม้หัวใจหดหู่
ใกล้จะถึงเตียงกู จะล้มทับดับตาย
ชาติจะเผด็จการ กลุ่มทหารเฉิดฉาย
ประชาธิปไตยล้มตาย แต่อย่าเลอะหมอนกู
อีกไม่เกินช่วงเดิน ไม่นานเกินเนิ่นรู้
ทีวีอาจยังเปิดอยู่ แต่กูหลับไปแล้ว


11 January 2008

-: Coffee & Tea, Me & You :-

-: Coffee & Tea, Me & You :-

“เธอผละมือไปยกถ้วยชาขึ้นจิบ ในขณะที่ผมก็กำลังจิบกาแฟ ผมชอบชั่วขณะแบบนี้แม้ว่าเวลาจะไม่เคยหยุดนิ่งให้มองได้นานเท่าที่เราต้องการ”


5 โมงเย็นของวันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม 2550 วันเสาร์ซึ่งไร้ซึ่งสัญลักษณ์ใดๆ ที่ระบุได้ว่าวันนี้เป็นวันหยุดสัญลักษณ์ของโลก (เคยสงสัยไหมว่าทำไมต้องเป็นวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ทำไมสุดสัปดาห์ไม่เป็นวันจันทร์-อังคาร อังคาร-พุธ พุธ-พฤหัสบดี หรือพฤหัสบดี-ศุกร์) วันหยุดที่คนจะได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายออกไปนอกแห่งกรอบวิถีเงินเดือน หยุดเพื่อขยับไปตามความต้องการของตนเองจริงๆ

ผมนั่งห้อยขาอยู่หน้าร้าน ‘เล่า’ บนถนนนิมมานเหมินทร์ จังหวัดเชียงใหม่อยู่กับผู้หญิงคนรักข้างกาย ถนนเส้นนี้ถือว่าเป็นถนนเส้นสนุกเส้นหนึ่งที่ไม่เคยหลับใหลแม้เวลาจะผ่านไปสักสามสิบชาติเศษแล้ว เวลาในขณะนี้มืดครึ้ม และใกล้เที่ยงคืนเข้าไปทุกที แต่การตื่นขยับจากหลับใหลของถนนเส้นนี้กลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากถนนโลกีย์หลายสายในมหานคร และในประเทศไทย เพียงเพราะถนนเส้นนี้ตื่นขยับด้วยแรงเขย่าของศิลปะ และจากไอสดชื่นของกลิ่นความสุข มิใช่ตื่นจากการเขย่าของขวดเหล้าและเต้านม

ผู้หญิงข้างกายนั่งเอนพิงและอ่าน ‘มาทิลดา นักอ่านสุดวิเศษ’ หนังสือของนักเขียนนามอุโฆษ ‘โรอัลด์ ดาห์ล’ ในขณะนั่งจิบชา English Breakfast อันมีกลิ่นหอมละมุนและรสอุ่นละไม ดาห์ลวางแผนเขียนหนังสือเล่มนี้ยาวนานถึง 20 ปี เพื่อจะบอกเล่าถึงเด็กหญิงมหัศจรรย์คนหนึ่งที่พูดจาเป็นเรื่องเป็นราวตั้งแต่อายุเพียงขวบครึ่ง และสอนให้ตัวเองอ่านหนังสือมาตั้งแต่สี่ขวบเนื่องจากไม่เคยมีใครสนับสนุนให้เธออ่านหนังสืออย่างจริงจังเลย ผมชายตาไปมองเห็นบางข้อความในหนังสือแล้วทำให้อดชายตาไปมองบางหน้ากระดาษของหนังสือที่จั่วหัวตัวใหญ่ว่า ‘ประเทศไทย’ ไม่ได้

“พ่อคะพ่อซื้อหนังสือให้หนูซักเล่มได้ไหมคะ” เธอพูด
“หนังสืออะไรกันละ—อยากได้หนังสือบ้าๆ ไปทำไม” พ่อย้อนถาม
“เอาไว้อ่านสิคะพ่อ”
“ให้ตายเถอะ! ดูทีวีมันเสียหายตรงไหน เรามีทีวีจอกว้าง ขนาดสิบสองนิ้วอย่างดี ยังจะขอหนังสืออีก แกมันถูกตามใจมากไปหน่อยแล้วนังหนู!”


ผมสะดุ้งเสีย 2 ครั้ง เมื่อรู้สึกว่าบทสนทนาแบบนี้อาจจะสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในประเทศไทยปัจจุบัน แต่อาจจะเปลี่ยนเป็นทีวีจอกว้างสัก 52 นิ้ว และไม่แน่อีกไม่นาน บทสนทนาเหล่านี้อาจจะยังคงซ้ำเดิม มีเพียงแต่จอทีวีเท่านั้นที่กว้างใหญ่ไพศาลขึ้น...

โรอัลด์ ดาห์ล มีเชื้อสายนอร์เวย์ เกิดที่แคว้นเวลล์ ในเครือจักรภพอังกฤษ หลังจากเรียนจบมัธยมปลายเมื่ออายุ 18 ปี ดาห์ลก็เข้าสมัครทำงานกับบริษัทเซลล์ในแอฟริกา จนเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สองดาห์ลได้สมัครเป็นทหารของกองทัพอากาศอังกฤษ สงครามในครั้งนี้เองที่เกือบพรากเมทิลดาไปจากมนุษยชาติ เพราะดาห์ลประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกและได้รับบาดเจ็บสาหัส ครั้นสงครามโลกครั้งที่สองยุติ ดาห์ลก็เข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยทูตทหารอากาศอังกฤษประจำกรุงวอชิงตัน ดี. ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา และจึงได้เริ่มเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกจากการชักนำของนักเขียนชื่อดังคือ ซี เอส. ฟอร์เรสเตอร์ เพียงเรื่องแรกก็ได้รับการตอบรับจากนักอ่านอย่างดียิ่ง

เมื่ออายุมากขึ้นโรอัลด์ ดาห์ล จึงเริ่มหันมาเขียนวรรณกรรมเยาวชน ปรากฏว่างานเหล่านั้นกลายเป็นที่ชื่นชอบของนักอ่านวัยเยาว์ทั้งหลาย จนอาจกล่าวได้ว่า ‘ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางทุกประเทศทั่วโลก และประเทศที่มีการแปลหนังสือจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาของตน แทบจะไม่มีชาติใดในจำนวนเหล่านั้นที่ไม่รู้จักชื่อของ โรอัลด์ ดาห์ล’

ผมปิดหนังสือของผมที่อ่านค้างอยู่ในมือลงเมื่อกาแฟคาปูชิโน่ร้อนถูกยกมาเสิร์ฟตรงหน้า หนังสือรวมเรื่องสั้นของฮารูกิ มุราคามิ ที่ผมอ่านอยู่อาจจะไม่สดใสคู่ควรกับบรรยากาศอ่อนโยนและลมที่กำลังพัดเย็นสบายในยามนี้ ผู้หญิงข้างกายหันมาส่งรอยยิ้มหวานๆ ให้ แตะมือสัมผัสอ่อนนุ่มที่ข้างแก้ว ก่อนจะเปรยขึ้นว่าลมหนาวทำให้กาแฟร้อนจัดในถ้วยอุ่นพอดีให้ดื่มได้เลยทีเดียว เราส่งยิ้มให้กันและกัน แม้ค่ำคืนจะส่งแสงมืดทำลายความคมชัดของรอยยิ้มนั้นลงไปบ้าง

ผมและเธอสูดอากาศสดชื่นของถนนสายศิลปะเข้าเต็มปอดอีกครั้ง เธออ่านเมทิลดาที่เหลือค้างเล่มในขณะที่ผมระบายลมหายใจอีกห้วงทิ้งไปกับสายลมหนาว แล้วเริ่มต้นอ่านบรรยากาศดีๆ เก็บไว้ในความทรงจำ เธอผละมือไปยกถ้วยชาขึ้นจิบ ในขณะที่ผมก็กำลังจิบกาแฟ ผมชอบชั่วขณะแบบนี้แม้ว่าเวลาจะไม่เคยหยุดนิ่งให้มองได้นานเท่าที่เราต้องการ แต่แค่มีคนที่รักและเข้าใจนั่งอ่านหนังสืออยู่ข้างๆ เท่านี้ก็ทำให้หัวใจอุ่นได้แล้ว บางครั้งความอบอุ่นก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับฤดูกาลสักเท่าไร ผมคิดว่าเมทิลดาเองก็คงคิดเช่นเดียวกัน

4 January 2008

-: น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ :-

-: น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ :-



ข้าพระพุทธเจ้า นายณ พงศ์ วรัญญานนท์ ขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์