6 August 2012

-: นิทานก่อนตื่นหลังคืนสุดท้าย :-

“แน่นอนว่าความเสียใจและน้ำตาไม่ได้รักษากันง่ายๆ ด้วยสารเคมีหรือมือหมอผู้เก่งกาจคนไหน”

เพื่อนคนหนึ่งมาปรึกษาถึงออฟฟิตว่าจะเลิกกับแฟนเพราะรักแล้วเหนื่อย เขาเล่าให้ผมฟังถึงเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นกับคู่ของเขา หลายอย่างที่ผมจับต้องได้คือ มันไม่เกี่ยวกับการที่พวกเขาไม่รักกันก็เพียงแค่มันไม่มากพอ และทั้งคู่ไม่ได้พยายามจะประคับประคองหรือพยายามจะเติมเต็มความรักและความเชื่อใจให้กัน หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นเพียงเพราะการไม่พูดความจริงทั้งหมด

ผมเคยคิดเสมอว่า สิ่งสุดท้ายในชีวิตที่ผมต้องการจะกระทำต่อบุคคลต่างๆ รอบกายทั้งที่ผมยกให้เป็นผู้มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตและหัวใจ รวมไปถึงต่อเพื่อนร่วมโลกข้างนอกนั่นที่ผมจำเป็นต้องมีกิจกรรมร่วมกันในเวลาและสถานที่ใดๆ ก็ตาม คือการโกหกหรือการเจตนาพูดในสิ่งที่ไม่มีมูลความจริงอันใด เพียงเพื่อทำให้ผมได้รับประโยชน์บางประการจากพวกเขา

แน่นอนว่าผมไม่ได้ถูกโคลนนิ่งออกมาจากท้องของพระเอกนางเอกหัวใจสัตย์ซื่อเยี่ยงนักบุญในนิยายประโลมโลกราคาถูก แต่สิ่งเหล่านี้ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากคำสอน ประสบการณ์ตรง และความเชื่อที่ล่ามพันธนาการผมไว้ตลอดการมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ ด้วยคำถามง่ายๆ เพียงข้อเดียวที่ว่า ในเมื่อผมไม่สามารถอ่านใจผู้คนที่เดินผ่านไปมาบนถนนชีวิตได้ ผมก็ควรเลือกที่จะเชื่อใจทุกคำพูดและการปฏิบัติของพวกเขาเสียเลยก็สิ้นเรื่อง? แม้ว่าตลอดระยะเวลาล่วงผ่าน ความเชื่อนี้มักตลบหลังดักทำร้ายกันอยู่เสมอ... แต่จะให้ทำอย่างไรได้ ในเมื่อผมไม่ต้องการจะคอยคิดวิเคราะห์และระแวงระวังอยู่ตลอดเวลาว่ามีคมดาบอะไรซ่อนอยู่ภายใต้คำพูดเหล่านั้น หากต้องทำเช่นนั้นตลอดเวลา... คุณไม่รู้สึกเหนื่อยเหมือนผมหรือ?

ด้วยเหตุผลตื้นๆ เช่นกันกับการที่ผมเป็นขี้ลืม การต้องมานั่งเชื่อมโยงเหตุผลบางอย่างเข้ากับคำโกหกเพื่อสร้างเรื่องจึงเป็นสิ่งที่ยากที่สุดในพื้นพิภพ ไม่จำเป็นต้องไปหายืมเครื่องจับเท็จของ FBI มาหนีบหูแปะหัว ทุกคนก็สามารถเค้นความจริงทั้งหมดออกมาจากตัวผมได้อย่างง่ายดาย และในทางกลับกัน ผมรู้สึกเจ็บปวดและเสียใจทุกครั้งเมื่อมีใครโกหกและผมมารู้เองในภายหลัง แม้หลายครั้งที่ผมอาจเลี่ยงที่จะพูดบางประเด็นอย่างจงใจ หรือเงียบนิ่งทำไม่รู้ไม่เห็น แต่ทุกครั้งการแบกรับความรู้สึกเหล่านั้นไม่เห็นจะเป็นเรื่องสนุกแม้แต่น้อย และต้องจบด้วยการที่ผมมักจะรีบพ่นคำสารภาพออกมาเสียดื้อๆ เพียงเพราะอยากสบายใจและต้องการความเชื่อใจจากอีกฝ่ายเช่นกัน แต่คำถามต่อวิธีการเลี่ยงที่จะพูดหรือนิ่งเฉยไม่พูดแบบนั้น (ด้วยความหวังดี?) นี่เองที่ยังค้างคาอยู่ในจิตใต้สำนึกของผมมาโดยตลอดว่านั่นก็เข้าข่ายการโกหกหรือไม่? และอย่างไร?

ในงานเขียนเรื่อง The silence lie ของบล็อกเกอร์มากประสบการณ์และตกผลึกทางความคิดอย่างคุณลุง Bruce (brucemctague.com) บังเอิญผ่านเข้าตาและความคิดของผมในวันเงียบๆ ตามปรกติเช่นในวันนี้ เขาได้บอกเล่าแนวคิดว่าการไม่พูดหรือเลี่ยงที่จะพูดสำหรับเขาและในมุมมองบางประการของผู้คนแล้ว ก็นับเป็นการโกหกคำโตที่ยอมรับไม่ได้ และพวกเขาเหล่านั้นก็ยินดีจะปลอบประโลมจิตใจของตนเองว่าข้าพเจ้ามิได้ทำสิ่งใดผิดมิใช่หรือ? โดย Bruce ได้ยกคำกล่าวอ้างจากบุคคลไร้ชื่อผู้หนึ่งขึ้นมาเป็นเหตุผลในการอธิบายความและสรุปเรื่องว่า “just because you didn’t speak the facts out loud didn’t erase their existence. silence was just a quieter way to lie. - กับการที่คุณไม่ได้พูดความจริงอะไรออกมาสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ลบล้างการมีอยู่ของมัน การเงียบเฉยก็เป็นอีกวิธีการโกหกหนึ่งของผู้ที่ไม่ยอมพูด”

แตกต่างจากนักคิดนักปรัชญาอีกหลายคนจากฝั่งประเทศอังกฤษ ในการเข้าร่วมวงวาทกรรมและแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อนิยามและตัดสินว่าการไม่พูดความจริงออกมานับเป็นการโกหกหรือไม่? โดยหนึ่งในพวกเขาคิดว่า “คำพูดไม่ใช่เครื่องมือการสื่อสารที่ดีเพียงพออยู่แล้ว ดังนั้นจะนำมาตัดสินว่าการไม่พูดคือการโกหกคงจะไม่ได้ มันต้องขึ้นอยู่กับความตั้งใจของผู้พูดในการพยายามเลี่ยงความจริงประกอบด้วย” บางส่วนในวงเสริมนิยามการโกหกเพิ่มเติมว่า “การโกหกต้องไม่ได้มาจากความเขลา และเช่นเดียวกันต้องไม่ได้มาจากความกลัวที่จะพูดความจริงเพียงเพราะถูกบังคับด้วยการลงทัณฑ์” หรืออาจกล่าวได้ว่าการโกหกที่แท้จริงย่อมเกิดจากเจตนาของผู้พูด ดังนั้นการไม่พูดโดยมีเจตนาที่จะปกปิดความจริงจึงถูกเหมารวมว่าเป็นการโกหกตามที่ลุง Bruce กล่าวอ้างไว้จริงๆ

แม้แนวคิดเหล่านี้จะฟังดูสมเหตุสมผลแล้ว แต่ก็ยังมีแง่มุมที่ละเอียดอ่อนเจือปนอยู่ด้วย ตามที่ Richard Yetter Chappell นักคิดนักปรัชญารุ่นใหม่ชาวนิวซีแลนด์ได้อธิบายเพิ่มเติมว่าการโกหกสามารถให้ความหมายได้มากมายไร้จุดสิ้นสุด ทุกอย่างถูกตีความผ่านการรับรู้และเหตุผลของผู้พูดเอง ซึ่งไม่แน่ว่าบางครั้งอาจเกิดจากความผิดพลาด บางครั้งอาจเกิดจากความเข้าใจผิด หรือบางครั้งก็เป็นเจตนาล้วนๆ ก็ได้ แต่เพราะเรื่องเจตนาและคุณธรรมเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ตัดสินการกระทำของมนุษย์ การไม่เบียดเบียนกันไม่ว่าหนทางไหนก็น่าจะเป็นสิ่งที่ควรยึดถือไว้เสมอ ในเมื่อใครๆ ก็ไม่ชอบถูกโกหกก็แค่เพียงเลือกที่จะไม่ทำแบบนั้นกับผู้อื่น เพราะความเชื่อใจย่อมมีค่ามหาศาลสำหรับการอยู่ร่วมกันไม่ว่าจะในรูปแบบความสัมพันธ์ใดๆ

ในเรื่องของเพื่อนที่เติมเต็มความรักคืนให้กันได้ไม่ดี และไม่พยายามทำให้อีกฝ่ายเชื่อใจกันได้มากพอตามที่เล่ามาข้างต้นนั้น ไม่นานผมก็ได้ทราบบทสรุปของพวกเขา ไม่ว่ามันจะจบลงอย่างไร แน่นอนว่าความเสียใจและน้ำตาไม่ได้รักษากันง่ายๆ ด้วยสารเคมีหรือมือหมอผู้เก่งกาจคนไหน แต่แม้ใครหลายคนอาจกล่าวห้ามและตักเตือนผมในการตัดสินใจแบบนี้กับความรัก แต่ผมก็ยังคงเลือกที่จะเชื่อใจคนที่ผมรักและพยายามทำให้เธอเชื่อใจผมได้มากพอเช่นเดียวกัน

ความรักที่ดีๆ คือความรักที่เราต้องสบายใจและสุขใจที่ได้ครอบครอง… ไม่ใช่หรือ? คนรักที่ดีๆ คือคนรักที่เราจะเชื่อใจได้เสมอว่าเขาจะคอยอยู่เคียงข้างไม่จากไปไหน… ไม่ใช่หรือ? หรือต่อให้เกิดเรื่องน่าเศร้าที่สุดในโลกอย่างการที่คน 2 คนหมดเยื้อใยรักกันแล้ว เราทุกคนก็ควรจะได้รับการบอกกล่าวอย่างซื่อตรง เพื่อให้โอกาสสุดท้ายในการยื้อรักษาความรักไว้ หรือเพียงส่งคืนความรักให้กันอย่างนุ่มนวลและมีเหตุผล… ไม่ใช่หรือ?

เพราะเป็นความจริงที่ว่า การมอบความรักให้ใครสักคนโดยไม่รู้อะไรเลยเป็นความทรมาณที่สุด ผมจึงเชื่อมาตลอดว่าทุกคนสมควรได้รับสิทธิ์แห่งความเชื่อใจนี้จากกันและกัน เพราะนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ผมและทุกๆ คนต้องการ... “ไม่ใช่หรือ?”

เผยแพร่ครั้งแรกที่ - คอลัมน์ Big Capsule นิตยสาร Capsule (สิงหาคม 2551)