13 December 2007

-: นิทานก่อนตื่น :-

-: นิทานก่อนตื่น :-


ภาพโดย ธวัชชัย พัฒนาภรณ์
จากนิทรรศการภาพถ่าย "ที่เกิดเหตุ" บันทึก 1 ปีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


เพียงชั่วครู่...
ลมก็ซัด พัดพรู อยู่ใกล้ใกล้
ละอองดิน บินสะบัด เศษซัดไป
ควันขาวไล้ โลมร่างเล่น ไอเหม็นปลิว

กลิ่นคาวเกลื่อน เคลื่อนกลับ รับอีกกลิ่น
ฉุนผงดิน ปืนคละ ดินประสิว
สางสาปเลือด ที่หลั่งหล่น ล้นเขตทิว
แผลเผยผิว เลอะร่าง เป็นทางยาว

ระเบิดคลั่ง ดังโครม โถมกระแทก
กระเทือนแยก แสงจ้า จนฟ้าขาว
ฟ้าคลายลับ กลับคืน เป็นผืนดาว
ผืนดินร้าว กระทุ้งเคลื่อน กระเทือนโครม

เสียงเพลงหวีด กรีดเสียง เพราะเพียงเปิด
แต่ระเบิด แผดลั่น สนั่นโถม
ไร้สักจุด ให้หยุดครุ อนุโลม
คำรามโหม หูพร่า นัยน์ตามัว

ชายหนุ่มเลื่อน เคลื่อนกลับ ขยับใกล้
แล้วโอบไหล่ เด็กน้อย จากห้อยหัว
เด็กเอื้อนคราง โอดคลั่ง ทั้งเจ็บกลัว
หันมอง สองเมียผัว ไม่หายใจ

..................


เด็กน้อย ร้องถาม ตามหา
ท่อนขา ของหนู อยู่ที่ไหน
เห็นมันวิ่ง ผ่านตา มาไวไว
เจอก็จึง จับใส่ ไว้ที่เดิม

แล้วร้องเล่น เต้นก๋า เข้าหากลุ่ม
เพื่อนก็รุม ล้อมใกล้ เข้าไปเพิ่ม
ตรงดิ่ง วิ่งรี่ กลับที่เดิม
แล้วจึงเริ่ม เกมต่อ ไม่รอช้า

ไม่ซ่อนแอบ เจ้าแสบอ้อน เลิกซ่อนแอบ
กร่างผลักแสบ แล้วแนบชิด ลงปิดหน้า
ใครหลบ นับครบแล้ว นะแก้วตา
ออกตามหา โป้งเจ้าแสบ แอบไม่ทัน

เจ้าแสบท้อ ต่อเสียง เถียงสหาย
แอบให้ตาย ไม่หายหัว หรอกตัวฉัน
"ขากูด้วน อ้วนช้า อย่าแกล้งกัน"
ตบหน้าหัน ไอ้กร่างเคือง "เรื่องของมึง!"

เด็กน้อย กุมหน้า น้ำตาไหล
ตัวอ่อน ถอนใจ คิดไม่ถึง
จับคอเสื้อ ไอ้กร่างลาก กระชากดึง
กร่างจิกทึ้ง เตะขากุด จนหลุดแรง

พื้นที่ เก็บเก่า เงาความฝัน
สลายลบ จบพลัน ไม่ทันแย่ง
สูญสิ้น ดินยืน แม้ผืนแปลง
เหี่ยวแห้ง แล้งลด อดชื่นชม

พื้นที่ เล็กเล็ก ของเด็กชาย
ที่เคยร่วม เคียงกาย ได้ผสม
ความฝัน ความสุข ทุกข์ระทม
กลายเป็นล้ม ระกำ ระช้ำใจ

..................


ชายหนุ่ม ร้องถาม ตามหา
ท่อนขา ของผม ล้มอยู่ไหน
เพียงชั่วคราว ที่ทิ้งวาง แล้วห่างไป
เจอก็จับ กระชับใส่ ไว้ที่เดิม

ประคองกาย ป้ายคล้องตน ทุพลภาพ
น้ำตาอาบ ชีวิตตน ไร้คนเสริม
ทนท้อแท้ แย่ช้ำ คนซ้ำเติม
หมดทางเริ่ม ไร้ทางสู้ ผู้พิการ

ตั้งกายตรง ลงจรด กดไม้เท้า
ชันหัวเข่า แขนประคอง ทั้งสองด้าน
สองขาเทียม เตรียมก้าว อย่างร้าวราน
สบถกร้าน "กูต้องช้ำ" น้ำมือใคร?

แรงสะเทือน เลื่อนสั่น ยังลั่นก้อง
ชายหนุ่มร้อง ภาพเคยพบ ลบไม่ได้
พ่อแม่ทาง ร่างหงาย ไม่หายใจ
เด็กน้อยทาง ขากางไขว้ เลือดไหลริน

เคยสดชื่น รื่นสำราญ บ้านอบอุ่น
ชั่วควันกรุ่น ฝุ่นกระจาย ฝันหายสิ้น
เคยใช้เท้า ก้าวเย็น เล่นไอดิน
กลับเป็นชิ้น ไม้เท้า พาก้าวเดิน

..................


เสียงโครมคลั่ง ดังเกิด ระเบิดคลั่ง
พาพัดพัง ทุกช่วงนิ้ว แม้ผิวเผิน
แรงกระเทือน กระแทกรุม ทุกหลุมเนิน
จนแตกดับ ยับเยิน เกินเยียวยา

เด็กน้อย ยังร้องถาม ยังตามตื้อ
หารือ ทวงถาม ยังตามหา
เห็นมันฝืน ขืนชิ่ง วิ่งผ่านมา
ท่อนขา ของหนู อยู่ที่ใคร

เพียงชั่วครู่...
เสียงก็ตึง อึ้งหู อยู่ใกล้ใกล้
ละอองหิน บินพัด สะบัดไป
บาดหัวไหล่ บาดแขน บาดลำตัว

เสียงหวิวหวีด กรีดดัง กังวานก้อง
กังวานร้อง บ้าคลั่ง ดังขึ้นทั่ว
ผู้คนหวาด ขยาดหวั่น และพรั่นกลัว
ฟ้ามืดมัว ฝุ่นคลุ้ง ฟุ้งกระจาย

เด็กน้อย ร้องถาม เพื่อตามหา
ท่อนแขนขวา ก็ไม่อยู่ หนูทำหาย
หลังเสียงตูม ไหลลื่น กลืนร่างกาย
เอาแขนซ้าย จิกพื้นเลื่อน เพื่อเคลื่อนตัว...
..................


29 November 2007

-: เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังวันอื่น :-

-: เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังวันอื่น :-

Sainte-Adresse, View Across the Estuary,
1865–70, by Claude Monet.
“ความจริง ความใช่ มักถูกประเมินจากสายตาของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่รู้จริง ในสิ่งนั้นๆ แต่ในทางกลับกันความปลอม ความไม่จริงก็ใช่ว่าจะเป็นผู้พ่ายแพ้อยู่ฝ่ายเดียว”


“ไม่จริงหรอก” ณรวิตรเถียงยาย
“หรือว่าณอไม่รู้สึก?” ยายถาม
“โลกของเราเนี่ยนะยาย ไม่ได้เป็นทรงกลม?...
เช้าวันที่ 1 เมษายน 2550 โทรทัศน์ที่ณรวิตรนั่งดูอยู่ประโคมถึงข่าวการย่างเท้าเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มตัวทั้งรูปธรรม และนามธรรม รวมไปถึงเรื่องราวสะเทือนโลกของผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิปดีแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา อัลเบิร์ต อัลกอ (Albert Arnold "Al" Gore, Jr.) กล่าวเอาไว้ในภาพยนตร์สารคดีที่ทำให้คนทั้งโลกต้องหันมาให้ความสนใจอย่าง An Inconvenient Truth ว่าในขณะนี้โลกของเรากำลังร้อนขึ้นอย่างก้าวกระโดดจนน่าตกใจ จนทำให้จากนี้ไปอีกประมาณ 50 ปี โลกของเราคงต้องถึงกาลวิบัติเป็นแน่ หาก! มนุษย์โลก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนร่วมประเทศของอัลกอ) ยังบริโภคอย่างนิยม และชมชอบที่จะฉีกยิ้มแลบลิ้นใส่สภาพแวดล้อมอย่างไม่ใยดี ณรวิตรกวาดสายตามองไปรอบตัว และส่ายหน้า “ไม่จริงหรอก” ณรวิตรเถียงอัลกอ...

ลมร้อนอีกระลอกพัดเข้ามาทางหน้าต่าง ครั้งแล้ว... ครั้งเล่า... เขาลุกขึ้นถอดเสื้อผ้าเหวี่ยงทิ้งไปยังทิศที่พัดลมตั้งอยู่ ปล่อยตัวเองให้เปล่าเปลือยอยู่กับผ้าขนหนูผืนใหญ่ในห้องน้ำ รูขุมขนทุกรูขยายตัวปล่อยเอาความร้อนภายในระบายออกมาเต้นระบำกับความร้อนกว่าภายนอก ก่อนที่จะเปิดสายน้ำเย็นพุ่งเข้าสู่ใบหน้า...
“วันนี้สดชื่นดีนะ!” ยายทักทาย เนื้อตัวของณรวิตรยังหมาดไปด้วยหยดน้ำ
“ร้อนไปนิดนึงยาย” เขาส่งยิ้มแล้วเดินเข้าไปโอบกอดจากด้านหลัง ก้มลงเอาหัวเปียกๆ ยีกับเสื้อคอกระเช้า
ตัวบางที่ยายสวมอยู่
“อย่าเล่นสิลูก” ยายปล่อยหัวเราะ
“ทำอะไรอยู่หรือครับ?”
“ถั่วเขียวต้มน้ำตาลของโปรดของณอไงล่ะจ๊ะ ยืนตรงนั้นช่วยหยิบกระปุกน้ำตาลส่งให้ยายหน่อยเร็ว...”
เช้านี้ยายเริ่มต้นวันให้ณรวิตรอย่างแปลกหูด้วยการเปรยขึ้นว่าโลกใบที่ทั้งสองกำลังนั่งคุยกันอยู่ใม่ใช่ทรงกลมอย่างที่เขาเห็นในภาพข่าวจากโทรทัศน์ ณรวิตรปล่อยขำเสียยกใหญ่ และเผลอนึกไปว่าความจริง ความใช่ มักถูกประเมินจากสายตาของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่รู้จริง ในสิ่งนั้นๆ แต่ในทางกลับกันความปลอม ความไม่จริงก็ใช่ว่าจะเป็นผู้พ่ายแพ้อยู่ฝ่ายเดียว เช่นเดียวกับประชาธิปไตย ฝ่ายตรงข้ามย่อมมีหน้าที่ระแวดระวัง ตั้งคำถาม และถ่วงดุลอำนาจให้ความจริงเหล่านั้นจริงอยู่เสมอ ใช่อยู่เสมอ และถูกต้องอยู่เสมอ
Mark Jones ผู้ช่วยภัณฑารักษ์แผนกเหรียญกษาปณ์ และเหรียญตราของ British Museum เคยกล่าวเอาไว้ในบทความชื่อ Fake? The Art of Deception ผ่านสำนวนแปลของ จักรพันธ์ วิลาสินีกุลไว้ว่า "ของปลอมสามารถสอนเราได้ในหลายสิ่งหลายอย่าง และบางทีสิ่งที่เด่นชัดที่สุดก็คือความผิดพลาดของผู้เชี่ยวชาญที่อาจเกิดขึ้นได้"
จนนึกขึ้นได้ว่าไม่น่าแปลก! หากวันนี้ยายอาจจะบอกเขาอีกว่าเกิดรัฐประหารซ้อนรัฐประหารซ้อนรัฐประหาร, อเมริกาค้นพบดาวดวงใหม่ที่คนสามารถอาศัยอยู่ได้ หรือจะจริงหรือไม่ที่เขาได้ยินว่าโลกกำลังร้อนขึ้นทุกๆ ปีอย่างน่ากลัวจากปากของชายที่ชื่ออัลกอ ราวกับมีกองเพลิงสุมอยู่ในชั้นบรรยากาศ เพราะชั้นบรรยากาศของโลกหนาขึ้นด้วยมลพิษที่คอยกีดกันไม่ให้โลกโยนเศษไม้ติดไฟเหล่านั้นทิ้งไปได้บ้างเลย ก็เพราะวันนี้เป็นวัน April Fool’s Day
ยายเคยเล่าว่าประมาณปี ค.ศ. 1564 กษัตริย์ชาร์ลที่ 9 แห่งฝรั่งเศสทรงประกาศเปลี่ยนวันเฉลิมฉลองการล่วงเข้าสู่ปีใหม่จากช่วงวันที่ 25 มีนาคม และส่งการ์ดให้กันในวันที่ 1 เมษายน (New Year's Week) มาเป็นวันที่ 1 มกราคม และด้วยข้อจำกัดของการติดต่อสื่อสารในสมัยนั้นจึงทำให้หลายต่อหลายคนยังคงไม่รู้ (Fool) และเฉลิมฉลองกันในวันที่ 1 เมษายนอยู่ ทำให้เรื่องที่ยายพูดวันนี้จึงฟังดูตลก
“ไม่จริงหรอก” ณรวิตรเถียงยาย
“หรือว่าณอไม่รู้สึก?” ยายถาม
“โลกของเราเนี่ยนะยาย ไม่ได้เป็นทรงกลม?...

เวลาครึ่งชั่วโมงล่วงผ่านน้ำในหม้อเริ่มเดือดและข้น ถั่วเขียวเริ่มพองสุกแล้ว ยายยังสาละวนอยู่กับการเคี่ยวส่วนผสมในหม้อให้เข้ากัน ไอความร้อนจากเตาแก็ส จากดวงอาทิตย์ และจากอัลเบิร์ต อัลกอช่วยกันวิ่งปะทะร่างกายของยายอย่างแข็งขัน ทำเอาเหงื่อของยายเปียกโชกไปทั้งตัว โลกของเราร้อนขึ้นมากจริงๆ! ณรวิตรวิ่งไปหยิบผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นบิดหมาด แล้วเดินปรี่เข้ามาในครัว
“วันนี้ร้อนจังนะครับ” เขาพูดขณะที่สัมผัสผืนผ้าขนหนูลงเช็ดบนใบหน้าของยาย
“อากาศดีออกต่างหากล่ะจ๊ะ” รอยยิ้มที่เปรอะบนใบหน้ายายไม่ได้ถูกเช็ดออกไปด้วย... แม้ช่วงนี้จะบ่นว่าปวด
หลังอยู่บ่อยๆ แต่ก็มีความสุขกับขนมที่ตั้งใจทำเพื่อหลานรักอย่างสุดฝีมือ
“ไปเอาถ้วยมาสองใบไป ยายจะตักขนมให้” ณรวิตรเลียปากเมื่อรู้ว่าจะได้กินของโปรด ยายใช้ช้อนคนในหม้ออีกสอง-สามครั้งแล้วยกชิมน้ำที่ค้างช้อนอยู่ ในขณะที่ณรวิตรเดินกลับมาพร้อมถ้วยสองใบ เขาแกล้งกระโดดเข้างับปลายช้อนในมือยาย ยายหลานหน้าแหย๋ มองหน้ากันแล้วปล่อยเสียงหัวเราะลั่นบ้าน
“ผมหยิบกระปุกเกลือให้ยายหรือนี่!” เขาอุทาน และเผลอนึกถึงคำพูดของ Mark Jones อีกครั้ง
“ณอแกล้งหลอกยายเล่นวัน April Fool’s Day เหรอ?” ยายกล่าวหยอกเสียงหัวเราะ
“วันนี้ยายก็หลอกผมเหมือนกันว่าโลกของเราไม่ได้เป็นทรงกลม” ณรวิตรแกล้งตัดพ้อ แล้วโอบรอบลงเอวคุณยาย
“ยายไม่ได้โกหกหรอกจ่ะ! โลกของเราไม่ได้กลมเพียงเพราะยายมองดูมันในขณะที่ยายยืนอยู่บนพื้นโลก... ข้างๆ หลานนี่ไงลูก... หรือว่าณอไม่รู้สึก!” ยายถาม ณรวิตรช่วยเทหม้อถั่วเขียวทิ้งลงอ่างล้างจาน ในขณะที่คุณยายเดินยิ้มไปทางหลังบ้านแล้วยกมือขึ้นปาดเหงื่อ หรือน้ำตาเม็ดเล็กๆ?

12 June 2007

-:รายละเอียด:-

รายละเอียด

“รวมถึงไปถึงปัญหาใกล้ตัวเช่นละเลยที่จะข้ามถนนตรงทางม้าลาย? เผลอทิ้งขยะเรี่ยราด? หรือไม่กล้าหอมแก้มพ่อและแม่สักครั้ง?”

ยามเช้ามาถึงแล้ว แม้ในช่วงนี้จะระอุไปด้วยไอความร้อนมากกว่าปรกติอยู่บ้าง ขณะที่ผมพาตัวเองมาเดินเตร็ดแตร่อยู่ในสวนสาธารณะกลางเมืองเพื่อรับการปลอบประโลมจากความเขียวขจีของแมกไม้ ผมได้ยินเสียงของคนอื่นแว่วเข้าหูมาว่า “ความรู้สึกต่อสิ่งที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมักมีในผู้หญิง มากกว่าในผู้ชาย” ผมเกือบจะตะโกนเถียงกลับออกไปว่า ไม่จริงหรอกผู้ชายที่ละเอียดอ่อนยังมีอยู่ถมไปบนโลกใบนี้ น่าเสียดายที่ผู้พูดกลับเดินห่าง และห่างออกไปทุกที

ผู้พูดเป็นผู้หญิงอายุราวๆ 18 ปี หรือ 20 ปี ไม่รู้สิอาจจะไม่ถึง หรืออาจจะเกิน ผมอาจจะเป็นผู้ชาย และไม่ละเอียดอ่อนอย่างที่เธอพูดจริงๆ แค่ประมาณอายุของเธอยังไม่ได้เลย เธอเดินมากับผู้ชายอีกคนหนึ่ง ท่าทางกำลังออกรสออกชาติในการถกเถียงกันถึงประเด็นความละเอียดอ่อนของจิตใจ

ผมเริ่มหาที่นั่งเพื่อพักเหงื่อที่เริ่มชุ่มหลังแล้วลองทบทวนไตร่ตรองถึงสิ่งที่ได้ยิน ผม และผู้ชายหลายๆ คนอาจเป็นอย่างนั้นจริงๆ ผู้ชายที่กำลังเถียงอยู่กับเธอคนนั้นอาจจะไม่มีวันเถียงชนะ เพราะมันอาจเป็นความจริงที่ว่าผู้หญิงอาจละเอียดอ่อนกว่าผู้ชาย

หลายครั้งที่เรากลายเป็นผู้สร้างปัญหาระดับโลกเช่น ภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการขาดความรับผิดชอบโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ? อาจแอบเผลอปล่อยสารเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ? หรืออาจเป็นผู้ร่วมทำร้ายระบบนิเวศ ธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม? รวมถึงไปถึงปัญหาใกล้ตัวเช่นละเลยที่จะข้ามถนนตรงทางม้าลาย? เผลอทิ้งขยะเรี่ยราด? หรือไม่กล้าหอมแก้มพ่อและแม่สักครั้ง?
จะสังเกตหรือไม่ก็ตาม คำตอบของปัญหาเหล่านั้นหลายคนเป็นผู้หญิง และหลายคนเป็นผู้ชาย...

เสียงของคนคู่นั้นดังขึ้นทำลายความเงียบ ถัดจากผมไปเพียงเก้าอี้สาธารณะ 2 ตัว หรือ 3 ตัว ไม่รู้สิอาจจะไม่ถึง หรืออาจจะเกิน... พวกเขายังไม่ได้ไปไหน ยังคงนั่งเถียงกันอยู่ข้างๆ ผม เสียง และรสชาติของการคุยกันของคนสองคนดูเข้มข้นยิ่งขึ้น

บางครั้งการตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ รอบกายอาจไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้กับโลกใบนี้มากนัก อาจไม่ได้ทำให้ผม และใครๆ หลายคนรู้ถึงคำตอบของคำถาม แต่คงเป็นเพราะเขาทั้งคู่กำลังใส่ใจในรายละเอียดถึงจิตใจของฝ่ายตรงข้าม เลยใช้ความเป็นตัวเองสร้างบรรทัดฐานขึ้นมา เพื่อที่จะวัดอีกฝ่ายหนึ่ง และเพียงไม่นานสงคราม การก่อการร้าย และปัญหาความขัดแย้งทั่วโลกจึงเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่มนุษย์ทุกคนอาจพยายามที่จะทำความดี และวัดผลการกระทำนั้นกับคนอื่นที่แตกต่างกันทางความคิดสิ้นเชิง

ฝนหลงฤดูเริ่มลงเม็ดโปรยตามกันลงมาเรื่อยๆ ชะเอาไอความร้อนละลายไหลติดไปด้วย เสียงฝนหล่นลงกระทบพื้น ดังขึ้นพร้อมๆ กับเสียงของคนคู่นั้นที่เงียบหายไป ยังไม่ทันจะได้รู้ว่าคู่รักทั้งสองนั้นลงเอยประเด็นคำถามนี้กันได้หรือไม่? อย่างไร? ผู้ชายอาจจะละเอียดอ่อนมากกว่า หรือผู้หญิงอาจจะละเอียดอ่อนมากกว่า ไม่รู้สิอาจจะใช่ หรืออาจจะไม่ใช่ ผมอาจจะเป็นผู้ชาย และไม่ละเอียดอ่อนอย่างที่เธอพูดจริงๆ ...

ผู้ชายยกกระเป๋าขึ้นเพื่อบังฝนให้ผู้หญิง ผู้หญิงเอาผ้าเช็ดหน้าของตัวเองส่งให้ผู้ชาย แล้วก็พากันวิ่งจูงมือไกลออกไป...


30 May 2007

-: Turn on the Little Stu-Fe' Light :-

Turn on the Little Stu-Fe' Light

“ความอร่อยหวานลิ้นของการได้ดูหนังกับเพื่อน และกลุ่มคนที่ชื่นชอบทางด้านงานภาพยนตร์ ดนตรี หรือศิลปะทุกแขนงผสมเคล้ากับบรรยากาศที่หอมละมุน ช่วยขับให้รสชาติในปากดีขึ้นมาได้อย่างผิดหูผิดตาและผิดลิ้น”

หัวค่ำของวันพฤหัสบดีแบบนี้ทำให้ผู้คนในร้านยังบางตา แต่เสียงเพลงและเสียงพูดคุยตอนนี้ก็ช่วยขับไล่ความเงียบเหงาของค่ำคืนกระจัดกระจายออกไปทางประตูพร้อมๆ กับที่เพื่อนอีกกลุ่มก้าวเข้ามาสร้างความครื้นเครงให้บริเวณร้านอาหารกึ่งคาเฟ่แห่งนี้

โทนร้านสีเขียวอบอุ่นของ Stu-Fe’ ร้านอาหารบรรยากาศสบายๆ และเป็นกันเองของ Monotone Group ตั้งอยู่ในซอยฟาร์มวัฒนาตรงข้ามกับโรงพยาบาลกล้วยน้ำไทย ถนนพระราม 4 เขตคลองเตย ซึ่งเลยเข้ามาจากถนนใหญ่ไม่ถึง 200 เมตร ตัวร้านดัดแปลงมาจากบ้านเก่าตกแต่งด้วยโต๊ะ เก้าอี้ และเครื่องประดับที่รับกันกับบรรยากาศเงียบสงบ และเปี่ยมด้วยสุนทรียะในความเป็นนักดนตรีของพวกเขา



Stu-Fe’ ย่อมาจาก Studio & Café และในอีกลูกเล่นและความตั้งใจหนึ่ง Stu-Fe’ อาจสะกดว่า Stufe’ ที่แปลว่าบันไดเสียงในภาษาเยอรมัน ซึ่ง Stu-Fe’ นอกจากจะเป็นร้านอาหารกึ่งคาเฟ่แล้วด้านหลังของตัวบ้านยังถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นห้องอัดไว้ให้คนรักดนตรีกลุ่มนี้ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานเพลงในเวลาว่างจากการทำงานประจำรวมทั้งการดูแลร้านอาหาร

พ่อครัวคนสำคัญของร้านซึ่งอาจจะไม่เป็นที่รู้จักนักในหมู่ของพ่อครัวด้วยกันเอง แต่รสชาติและชั้นเชิงในการทำอาหารของพ่อครัวที่ชื่อโต้ง P.O.P หรือปัจจุบันรู้จักกันในนามของ โต้ง Save da last piece ก็นับได้ว่าอร่อยและถูกลิ้นนักชิมอย่างไม่ธรรมดาเลยทีเดียว โดยที่เมนูขึ้นชื่อของที่นี่ประกอบไปด้วย สปาเก็ตตี้ซอสหมู, แกงกระหรี่ไก่ราดข้าว, ข้าวหน้าไก่ย่าง และส้มตำจานใหญ่ที่เมื่อไรมาถึงร้านนี้แล้วก็ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

สิ่งที่แตกต่างและช่วยทำให้ร้านอาหารกึ่งคาเฟ่แห่งนี้สว่างไสวขึ้นมาท่ามกลางความมืดที่ปลีกตัวออกมาจากความวุ่นวายของถนนใหญ่ คงจะเป็นความอบอุ่นและเป็นกันเองของบรรดาผู้คนในร้านที่ล้วนแต่เพื่อนฝูงกัน ทั้งนักจัดรายการวิทยุแห่งคลื่น 104.5 Fat Radio สมาชิกจากทั้ง Monotone Group เอง รวมไปถึงเพื่อนๆ ศิลปิน นักร้อง นักดนตรีที่สนิทสนมคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี คอยเชื้อเชิญต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยรอยยิ้ม และเสียงเพลงจากกีตาร์โปร่งที่ดังฟุ้งภายในร้าน สลับกับบทเพลงหวานฉ่ำจากเครื่องเสียง



และอาจจะแตกต่างจากทุกวัน... ปลายอาทิตย์อย่างวันพฤหัสบดีของทุกสัปดาห์เช่นในวันนี้ Stu-Fe’ ตั้งใจจะปิดห้องเพื่อให้สมาชิกภายในร้านร่วมกันชมภาพยนตร์คุณภาพที่คัดสรรมาอย่างดีโดยประเดิมครั้งแรกด้วยหนังโทนเหลืองของ Jonathan Dayton และ Valerie Faris สองผู้กำกับคู่หูที่เคยผ่านงาน Music Video มามากมาย และกับภาพยนตร์เรื่องแรกของพวกเขาอย่าง Little Miss Sunshine เป็นครั้งแรกของทั้งหนังและทั้งร้านที่ไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง



เสียงปรบมือยังคงไม่สิ้นสุดเมื่อภาพสุดท้ายบนจอหายวับไป รอยยิ้มระบายอยู่บนใบหน้าทุกใบหน้าซึ่งกำลังกล่าวชื่นชมกับภาพยนตร์ที่เพิ่งจบลง ความอร่อยหวานลิ้นของการได้ดูหนังกับเพื่อน และกลุ่มคนที่ชื่นชอบทางด้านงานภาพยนตร์ ดนตรี หรือศิลปะทุกแขนงผสมเคล้ากับบรรยากาศที่หอมละมุน ช่วยขับให้รสชาติในปากดีขึ้นมาได้อย่างผิดหูผิดตาและผิดลิ้น แม้อาหารบนโต๊ะจะหมดไปตั้งนานแล้ว... แสงไฟภายในร้านหรี่ลงเมื่อหลายคนเริ่มทยอยออกจากร้าน บทเพลงของค่ำคืนยังคงบรรเลงแผ่วเบาคล้ายท่วงทำนองที่ทุกคนคุ้นหู “ปิดไฟเถอะนะที่รัก แล้วเราจะไปด้วยกัน สวรรค์ของเรา...”

-: ความฝันในยามตื่นของคนไม่วิกลจริต :-

ความฝันในยามตื่นของคนไม่วิกลจริต

“พัดลมที่ปลายเตียงพัดเอาลมร้อนพุ่งเข้าหาตัวไม่หยุดหย่อน จนทำให้ตัดสินใจลำบากระหว่างการเลือกที่จะปิดมันเสียเพื่อหลีกหนีจากระลอกพัดของลมร้อนกับการนั่งอบอ้าวอยู่ตามลำพัง”

ไม่ว่าโลกของเราจะร้อนขึ้นหรือเย็นลง มนุษย์ส่วนใหญ่ก็อาจจะได้แต่ตื่นตระหนก! สะดุ้ง! สงสัย! กระวนกระวายใจ! แล้วหลังจากขนลุกและทุกข์ร้อนอยู่ชั่วครู่หนึ่ง ครอบครัว เจ้านาย ลูกน้อง การงาน และที่ประชุมก็จูงมือพวกเขาเหล่านั้นกลับไปสู่ชีวิตประจำวันที่หนักหนา ค่าเงินที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง? เศรษฐกิจที่ถีบตัวสูงหรือตกต่ำ? กำไรหรือขาดทุน? เงินเดือนขึ้นหรือไม่ขึ้น? เลื่อนตำแหน่งหรือไม่เลื่อน? เหล่านั้นต่างหากที่สำคัญกับปากท้องของพวกเขามากกว่าโลกจะร้อนขึ้นหรือเย็นลง...

ค่ำคืนวันที่ 21 เมษายน 2550 ณรวิตรพลิกตัวกระสับกระส่ายไปมาเนื่องจากนอนไม่หลับ หลังจากตกลงปลงใจที่จะไม่เปิดแอร์เพื่อร่วมเฉลิมฉลองไปกับเช้าวันที่ 22 เมษายน 2550 อย่างเต็มภาคภูมิ วันที่ 22 เมษายนของทุกปีที่รู้จักกันในนามของวันคุ้มครองโลก (Earth Day) เป็นวันที่มนุษย์ทุกคนควรจะต้องใคร่ครวญ ระลึกและหาหนทางเยียวยาสภาพแวดล้อม และทรัพยากรที่ธรรมชาติมอบเป็นของขวัญให้แก่เรา ซึ่งในขณะนี้พวกเราหยิบใช้เหมือนไม่มีวันหมด และรุมทำร้ายเหมือนไม่มีวันแตกสลาย โดยเฉพาะณรวิตรที่ชอบการอ่านหนังสือที่พิมพ์จากกระดาษเป็นชีวิตจิตใจ เขาจึงมีส่วนร่วมโดยตรงกับวันคุ้มครองโลก ประเด็นต่างๆ นี้วิ่งวนอยู่ในความคิดของเขาตลอดทั้งคืนแต่กลับไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้เขานอนไม่ค่อยหลับในค่ำคืนนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วเขาร้อนเพราะไม่ได้เปิดแอร์!
ช่วงเช้าใกล้จะเข้ามาถึงเต็มที ยิ่งกดดันให้ณรวิตรกระสับกระส่ายมากยิ่งขึ้น ไม่รู้ว่าจะไปเอาเรี่ยวแรงและความสดชื่นมาจากไหนในการที่ต้องลุยงานหนักในวันรุ่งขึ้นหากยังไม่สามารถข่มตาลงนอนได้ในค่ำคืนนี้ พัดลมที่ปลายเตียงพัดเอาลมร้อนพุ่งเข้าหาตัวไม่หยุดหย่อน จนทำให้ตัดสินใจลำบากระหว่างการเลือกที่จะปิดมันเสียเพื่อหลีกหนีจากระลอกพัดของลมร้อนกับการนั่งอบอ้าวอยู่ตามลำพัง ก็เพราะความละโมบในทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมนี้มิใช่หรือที่ส่งผลร้ายทั้งทางตรงเช่นอากาศปรวนแปรและภาวะโลกร้อน และทางอ้อมอย่างการล้นเกิน และขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติจนนำมาซึ่งหลายๆ สงคราม ณรวิตรรำลึกไปถึงบทกลอน “HOIST THE SAILS!” จาก “John McConnell” นักเคลื่อนไหวด้านสันติภาพ

“Four billion years ago
Our lonely Earth
Set sail on cosmic seas
Guided by an unseen hand
Of nature, God or chance.

As life evolved
Through endles eco-cycles
Man was born, destined
To destroy or enrich
the Precious Ship.

And now his hand
Has seized the tiller
But his ear has not
Yet caught the Captain's
Quiet command.

The sails are down, the ship becalmed,
Its fragil life at stake.
No longer do we ride the gentle swells of
Silent seas and breathe
The fragrant air.

Broken are the rhythms
Of our cyclic plants
And other living things.

But now the Captain speaks again
Our quiet thoughts at last reveal his voice.

"Hoist the sails, Earth Man.
Set them for celestial winds.
Hold the tiler firm,
The course ahead is clear."

Be He nature, God or chance
His voice is heard
And we shall heed
The Captain's quiet command.”


หากโลกของเรามีชีวิต... ไม่รู้ว่าตอนนี้เขากำลังคิดอย่างไรอยู่?

ค่ำคืนเคลื่อนคล้อยไปอย่างไม่หยุดหย่อนชายหนุ่มหยิบหนังสือ “ความฝันของคนวิกลจริต (The Dream of a Ridiculous Man)” จากชั้นหนังสือขึ้นมาอ่าน อีกมือที่กำลังว่างหมุนปรับความดังของวิทยุ เพลงเบาสบายจากอัลบั้ม “Brushfire Fairytales” ของหนุ่มเนื้อหอม “แจ็ค จอห์นสัน (Jack Johnson)” ดังคลอสม่ำเสมอไปกับจังหวะการมาถึงของตัวหนังสือ
ความฝันของคนวิกลจริตเป็นเรื่องสั้นลำดับสุดท้ายในชีวิตของ “ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Mikhalovish Dostoevsky)” นักเขียน-นักคิดผู้ยิ่งใหญ่จากประเทศรัสเซียที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เคยกล่าวเอาไว้ว่า “ดอสโตเยฟสกีให้อะไรผมยิ่งกว่านักวิทยาศาสตร์คนไหนๆ” เรื่องสั้นที่สมบูรณ์และเต็มไปด้วยจินตนาการกล่าวถึงโลกในอุดมคติในความฝันของชายที่วางปืนอยู่บนโต๊ะตรงหน้าเขา และผลอยหลับไปในขณะที่กำลังรอคอยให้ความคิดในหัวหยุดลงเพื่อจะได้สังหารชีวิตของตัวเองสักที โลกในอุดมคตินี้ผู้คนสดใสและเบิกบาน รักใคร่และหวังดีต่อสิ่งมีชีวิตรอบข้างไม่ว่าจะเป็นเพื่อนมนุษย์ สัตว์ ต้นไม้ และดวงดาว(ที่ดูจะเป็นสิ่งมีชีวิตเช่นกันในสายตาของพวกเขา) โลกที่แม้ใครได้อ่านก็คงนึกอิจฉาและอยากให้ปรากฎโลกแบบนั้นในโลกของเราบ้าง ยิ่งในสมัยนี้ที่ปัจจุบันกาลดูวิ่งไปข้างหน้ารวดเร็วจนนึกกลัวว่าจะแซงอนาคตในบางวัน...
“Slow down, every one. You’re moving too fast.” – “ช้าลงหน่อยทุกๆ คน พวกคุณช่างเคลื่อนไหวเร็วเสียจริง” - ข้อความจากเพลง “Inaudible Melodies” ดังขึ้นช่วยทำให้ค่ำคืนนี้เย็นขึ้น และช้าลงได้บ้าง

“คลื่นจากท้องทะเลสีเขียวมรกตโยนตัวเข้าหาฝั่งอย่างสงบนุ่มนวลราวกับสัมผัสลูบไล้จากมืออันละมุนละไมของคนรัก”
“มวลหมู่นกก็พากันกระพือปีกอยู่เกรียวกราวโดยปราศจากความหวาดกลัวต่ออาคันตุกะแปลกหน้า... พวกมันโผบินลงมาเกาะตามมือและไหล่ของผม แล้วใช้ปีกนุ่มนิ่มทั้งสองข้างของมันหยอกเอินผมอย่างอ่อนหวานน่ารัก”
(หน้า 49 ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 สำนวนแปล มนตรี ภู่มี สำนักพิมพ์สามัญชน)

ตัวหนังสือที่จดจารโลกในอุดมคติแห่งนี้ อาจไม่ได้อยู่ในลำดับที่เท่าไรเลยของ “1001 Books You Must Read Before You Die” ของ Dr. Peter Boxall ที่ณรวิตรกำลังไล่ตามอ่านให้ครบด้วยความสนุกและแอบชื่นชมว่าเป็นการชุมนุมของชื่อเล่มทั้ง 1,001 เล่มที่น่าสนใจทีเดียว เขาพยายามตามอ่านหนังสือทั้ง 1,001 เล่มไม่ได้เพียงเพราะเก็บสถิติหรือเพื่ออวดโอ้ใครต่อใคร และไม่ได้คิดว่าจะมีแค่ 1,001 นี้ที่น่าติดตาม แต่ในทางกลับกันทั้ง 1,001 เล่มนี้ก็ไม่สมควรพลาดด้วยประการทั้งปวงอยู่ดี ระหว่างทางที่ตัวเอกในเรื่องกำลังเดินทางกลับบ้าน โดยหวังจะกลับไปทำลายชีวิตของตัวเองลงที่ห้องพักเก่าและคับแคบกลับได้พบการขัดจังหวะของเด็กผู้หญิงตัวน้อยๆ ที่สะอึกสะอื้นเข้ามาขอความช่วยเหลือจากเขา การขัดจังหวะที่กระทบกระเทือนความมุ่งหมายแรกจนส่งผลลัพธ์ในตอนท้ายของเรื่อง ช่างเป็นการขัดจังหวะที่เต็มไปด้วยพลัง ไม่ต่างกันกลับการขัดจังหวะของณรวิตรโดย “ความฝันของคนวิกลจริต” จึงไม่ได้ทำให้ชายหนุ่มรู้สึกเสียเวลาแม้แต่น้อยในการตามอ่านทั้ง 1,001 เล่มนั้นเช่นเดียวกัน ทั้งคราวนี้ยังเป็นการขัดที่ทำให้จังหวะเงางามขึ้นมาเสียด้วยซ้ำ

เสียงไก่ขันลอดเข้ามาทางหน้าต่าง เสียงเพลงหยุดเล่นไปนานแล้วไม่รู้ว่าประมาณช่วงไหนของคืน พัดลมปลายเตียงยังคงบริการลมที่ร้อนระอุแก่เขาอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง เขาขยับตัวครั้งสุดท้ายรับดวงอาทิตย์ที่กำลังโผล่พ้นจากขอบฟ้าขึ้นมาทักทายโลกมนุษย์จริงๆ แม้จะไม่ใช่แห่งที่เดียวกันกับโลกในหนังสือที่ถูกคั่นอยู่ที่หน้า 79 ในมือของณรวิตรในขณะนี้
ไม่รู้ชายหนุ่มหลับไปหรือยัง?

-: ความเหงาในความเขลา :-

ความเหงาในความเขลา

“แล้วเมื่อคราวมีปัญหาที่แก้ไขเพียงคนเดียวไม่ได้ คนที่อยากจะคว้าตัวเอามาซุกกอดในอ้อมแขนอันอบอุ่นที่สุดแล้วก็กลับอยู่ห่างไกลเสียจนไม่ได้ยินเสียงร่ำไห้ของกันและกัน ”

ณรวิตรลืมตาขึ้น ยามแสงแรกแห่งโลกของการตื่นกำลังผลิดอกออกแสงอบอุ่นเข้าแยงตาและชโลมผิว ทีแรกความสลึมสลือยังคงปรากฎอยู่เต็มตาจนทำให้ทุกอย่างรอบกายคลุมเครือ จนท้ายที่สุดเมื่อหนุ่มณรวิตรสามารถประคองสติสัมปะชัญญะกลับคืนมาได้เขาก็พบว่าภายใต้ความสว่างรอบกายที่เขาคุ้นเคยในทุกเช้า กลับไม่ใช่บ้านที่คุ้นเคยเป็นอย่างดี ที่นอนที่กระด้างและระคายสัมผัส หมอนหนุนที่สูงค้ำคอจนเมื่อยล้ามาถึงกลางหลังซึ่งความจริงเป็นเพียงเก้าอี้แถวยาวสำหรับการนั่งรอของผู้คน และหนังสือเล่มหนาที่หนุนหัวเขาอยู่ต่างหาก ณรวิตรหันมองซ้ายทีขวาทีแล้วพบกับภาพผู้คนแปลกหน้าหญิง ชาย หนุ่ม สาว เด็ก แก่ที่กำลังดำเนินชีวิตหลากหลายตามปรกติของพวกเขาและพวกเธอเหล่านั้นยิ่งเร้าให้ความสงสัยของณรวิตรพลุ้งพล่านขึ้นเป็นทวีคูณ

“นี่มันไม่ใช่บ้าน!” คล้ายกับรำพึงรำพันกับตัวเอง แต่เสียงพูดแรกที่หลุดออกมาจากปากของเขาน่าจะดังเกินปรกติ ชายหนุ่มสะดุ้งเมื่อรู้สึกเหมือนไม่สามารถควบคุมการเปล่งเสียงของตนเองได้ในสถานที่แปลกหน้าแห่งนี้ แต่แล้วมันก็แผ่วเบาฟุ้งหายไปกับสายลม ไม่มีแม้ใครสักคนตอบสนองต่อเสียงนั้น

ไม่กี่นาทีที่ความเงียบสงบส่งเสียงดังจนน่ารำคาญณรวิตรพบว่าสถานที่ที่เขาอยู่น่าจะห่างไกลจากประเทศไทยบ้านเกิดเมืองนอนอยู่หลายช่วงผืนน้ำ ชายหนุ่มขยับตัวแล้วดันร่างกายขึ้นสู่ท่านั่งหลังเหยียดตรงกว่าเดิม มือขวาของเขาสัมผัสกับฝ่ามือเล็กเรียวที่หยาบแห้งเล็กน้อยแต่ก็ยังคงความอ่อนโยนของผิวสตรีต่างชาติที่ค่อนข้างมีอายุ “เธอต้องเคยสวยแน่ๆ เมื่อครั้งยังเป็นสาวสะพรั่ง” ณรวิตรอดคิดไม่ได้ แม้ในขณะนี้มิน่าใช่กาลเทศะที่จะมาชื่นชมความงามของสตรีเท่าใดนัก

“ขอโทษครับ...” ณรวิตรเริ่มต้นบทสนทนากับสตรีมีอายุแปลกหน้า และแปลกถิ่น ตั้งใจว่าหลังจากกล่าวคำขอโทษแล้วจะต้องถามให้คลายความสงสัยเสียทีว่าตนกำลังเอาหลังพิงอยู่กับสถานที่ใดและเขตดินแดนของประเทศใดกันแน่ แต่เปล่าเลยหญิงกลางคนยังคงนั่งเฉยเหมือนไม่ได้รับสัมผัสจากณรวิตรทั้งๆ ที่ก็ทอดสายตามาทางเขา ชายหนุ่มขนลุกและตกลงสู่ห้วงแห่งความวิตกอาจจะตั้งแต่ที่เขาหลุดอุทานเสียงดังออกมาเมื่อก่อนหน้านี้ และปราศจากการตอบสนองต่อผู้ใด “เธออาจจะหูหนวกก็ได้!” เขาคิดและทดลองเอื้อมมือไปสะกิดที่หลังมือของเธออีกครั้ง คราวนี้เธอหันมามองทางเขาด้วยสายตาเป็นประกาย...

หากสังเกตดีๆ แล้วณรวิตรกำลังอยู่ในอาคารสนามบิน ที่ผู้คนเกือบจะทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นฝรั่งผิวขาว มันอาจจะเป็นสนามบินแห่งใดแห่งหนึ่งในประเทศไทย หรือไม่ก็ในโลก ข้อความที่ปรากฏอยู่ตามป้ายต่างๆ นอกเหนือจากภาษาอังกฤษแล้วยังมีตัวอักษรของภาษาอะไรอีกสักอย่างที่คลับคล้ายคลับคลากำกับอยู่ทั้งๆ ที่เป็นภาษาที่แปลกตาแต่ชายหนุ่มก็สามารถเข้าใจได้อย่างน่าประหลาด

เธออมยิ้มและพยายามเรียกร้องความสนใจจากใคร? เขาหรือ? ชายหนุ่มคิดเมื่อเห็นหญิงสาวทำทีส่งสายตามาให้ เขาขยับทำท่าจะส่งรอยยิ้มตอบด้วยความแปลกใจแต่ก็ต้องชะงัก และหันไปมองข้างหลังเมื่อพบว่าสายตาของเธอข้ามหัวไหล่เขาไปอย่างกับเขาเป็นเพียงอากาศธาตุแล้วปะทะลูบไล้กับใบหน้าของชายวัยกลางคนแต่งกายภูมิฐานบนม้านั่งฝั่งตรงข้าม ชั่วอึดใจที่ชายวัยกลางคนส่งรอยยิ้มตอบกลับมาและผงกศีรษะเล็กน้อย เธอลุกขึ้นเดินเฉียดร่างณรวิตรไปหาชายคนนั้น ใกล้จนเกือบชน

“เราเคยรู้จักกันในกรุงปรากไม่ใช่หรือคะ” เธอพูดขึ้นด้วยภาษาเชคกับชายวัยกลางคน น่าแปลกทีเดียวที่ณรวิตรสามารถเข้าใจได้ทันทีโดยไม่ต้องแปล “กรุงปรากหรือ?” ชายหนุ่มกระสับกระส่าย เขาเพียงนอนหลับไปบนที่นอนของตัวเองในบ้านแถวๆ วงเวียนใหญ่ และตื่นขึ้นมาที่นี่! ที่ที่คนสองคนคุยกันด้วยภาษาเชคและเขาก็เข้าใจเสียด้วย!
“ยังจำดิฉันได้หรือเปล่า?”
“จำได้สิ”
“ฉันจำคุณได้ทันที คุณไม่เปลี่ยนเลย”
“โอ้โฮ นั่นคงเกินความจริงไปหน่อย”
“ไม่หรอกค่ะ ไม่เลย คุณยังดูเหมือนเดิม คุณพระช่วย มันนานมากเหลือเกิน” เธอพูดกลั้วหัวเราะ “ฉันซาบซึ้งจริงๆ ที่คุณยังอุตส่าห์จำฉันได้!” แล้วเธอก็กล่าวถามต่อ “คุณอยู่ที่โน้นตลอดเลยหรือคะ?”
“เปล่า” ชายคนนั้นตอบ
“คุณลี้ภัย?”
“ใช่”
“แล้วคุณไปอยู่ที่ไหน? ในฝรั่งเศสหรือคะ?”
“เปล่า บังเอิญที่ผมมาต่อเครื่องที่ปารีส ผมอยู่ในเดนมาร์ก แล้วคุณล่ะ?”
“อยู่ที่นี่ค่ะ ในปารีส...”
“ปารีส!” ณรวิตรเผลออุทานอีกครั้ง โดยคราวนี้เขาไม่สนใจอีกแล้วว่าจะดังเกินไปหรือไม่ในเมื่อก็ไม่ได้มีใครเห็นว่าเขาอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว หรือนี่แค่เพียงความฝัน? หรือความตาย? บางทีสองสิ่งนี้อาจจะแยกออกจากกันได้ไม่เด็ดขาดนักว่าในขณะที่เกิดภาพที่ไม่คุ้นตาขึ้นเขาจะกำลังอยู่ในภวังค์แห่งความฝัน? หรือโลกใหม่แห่งความตาย?

หญิงมีอายุที่อยู่ตรงหน้าของเขาพูดคุยกับชายคนนั้นอีกชั่วครู่ก่อนจะพากันเดินขึ้นเครื่องบินไปยังปราก ตามที่เขาและเธอพูดคุยและนัดหมายกัน การโหยหาแผ่นดินเกิดหลังจากต้องลี้ภัยไปอยู่ในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่บ้านที่อบอุ่น ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเธอและเขาอาจจะเคยสะดุ้งตื่นกลางดึกของค่ำคืน หรือในเช้าธรรมดาอย่างมีความสุข แต่หลังจากบิดขี้เกียจจนโลกแห่งความจริงเลิกเหลื่อมล้ำกับโลกแห่งความฝันแล้วกลับพบว่าทุกสิ่งทุกอย่างกลับไม่ใช่อะไรที่คุ้นเคย ถนนหน้าบ้านไม่ใช่ถนนเส้นเดิมที่เคยเดินแม้จะคล้ายคลึง
โทรทัศน์ที่เปิดกรอกหูกลับเป็นใบหน้าและถ้อยคำของชาวต่างชาติ อาหารการกินนะหรือ? ที่เคยเอร็ดอร่อยกับรสชาติที่คุ้นลิ้น และสนุกกับการบริโภคกลับแปลกรสจนอยากอาเจียน แล้วเมื่อคราวมีปัญหาที่แก้ไขเพียงคนเดียวไม่ได้ คนที่อยากจะคว้าตัวเอามาซุกกอดในอ้อมแขนอันอบอุ่นที่สุดแล้วก็กลับอยู่ห่างไกลเสียจนไม่ได้ยินเสียงร่ำไห้ของกันและกัน ยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องจากบ้านไปไกลแสนไกลด้วยป้ายแขวนคอว่าผู้ลี้ภัยทางการเมือง และความขัดแย้งในประเทศตนเองอย่างคนคู่นี้ที่แค่แอบคิดว่าจะได้กลับไปสูดเอาอากาศของบ้านเกิดให้ชุ่มปอดก็คงยาก ความโหดร้ายของการคิดถึงใครสักคนโดยไม่มีโอกาสที่จะได้พบกันอีกคงช่างทรมาณลึกลงไปในหัวใจ เหงา สงสัย และแปลกแยก... เช่นเดียวกับณรวิตรรู้สึกในขณะนี้ในขณะนี้

ฉากการกลับไปเยือนบ้านเกิดของสองผู้ลี้ภัยชาวเชคที่ได้พบปะพูดคุยกันบนผืนดินในสวนหลังบ้านของคนอื่นอย่างกรุงปารีส หลังเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์และผู้ต่อต้านเมื่อมีการเข้ามารุกรานของสหภาพโซเวียต จนถึงคราวล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์หลังสิ้นสุดสงครามเย็นระหว่างสองขั้วมหาอำนาจคือพี่ใหญ่อเมริกา และพี่ใหญ่สหภาพโซเวียต (ที่สุดท้ายก็ต้องล่มสลายแพ้พ่ายให้กับพี่ใหญ่บ้าสงครามตลอดกาล) นี้คุ้นตาณรวิตรมากขึ้นทุกทีๆ หลังจากคุมสติได้แล้วว่าในขณะนี้ตนได้พลัดพลากจากเตียงนอนนุ่มอันเป็นที่รักมาห่างไกลอย่างไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ อาจมีใครวางยาสลบแล้วนำเขามาทิ้งไว้ที่อาคารสนามบินแห่งนี้? หรือเขาอาจหัวใจวายตายแล้ววิญญาณล่องลอยมาเพราะก่อนตายกินขนมปังครัวซองอยู่? อาจมีมนุษย์ต่างดาวลักพาตัวเขาไปทดลองแล้วนำมาปล่อยคืนผิดตำแหน่ง? (อาจสลับกับมิลาน คุนเดอร่า (Milan Kundera) ผู้เขียนนิยายชาวเชคที่ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ฝรั่งเศส หนึ่งในหลายผลงานชื่อก้องโลกที่ผ่านมุมมองจากประสบการณ์จริง และมันสมองจริงๆ (ไม่ใช่เล่น!) ของเขาอย่าง “ความเขลา (IGNORANCE)” ที่ตั้งคำถามต่อการโหยหาแผ่นดินถิ่นเกิดของผู้ลี้ภัยที่จากบ้านมานานอย่างน่าสนใจ (และอาจเพราะด้วยประสบการณ์ตรงของตาลุงมิลานเอง) ชายหนุ่มจำได้ว่าหนังสือเล่มนี้ติดอยู่ 1,001 เล่มที่ควรอ่านก่อนตายของ Dr. Peter Boxall และก็ไม่น่าผิดหวังที่ได้มีโอกาสอ่านก่อนตายถ้าตอนนี้ชายหนุ่มยังหายใจอยู่โดยไม่หลอกตัวเอง) หรือท้ายที่สุดเขาอาจจะเดินทางมาเองจริงๆ แล้วแค่ตื่นครึ่งฝันครึ่งขณะรอขึ้นเครื่องกลับบ้าน? ไม่น่าแปลกถ้าตัวเอกของนิยายเรื่องนี้อาจเปลี่ยนแปลงเป็นใครก็ได้ ที่ก็ไม่น่าจะแตกต่างหากต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกันกับอีเรน่า และโจเซฟสองตัวละครสำคัญในนิยายของคุนเดอร่าที่ขับเคลื่อนให้เกิดเรื่องราวอันน่าสนใจ และน่าตะลึงเพริศแพร้วอันเป็นภาพซ้อนกับหญิงและชายวัยกลางคนที่ชายหนุ่มได้พบเห็นเมื่อครู่ที่ผ่านมานี้

นับตั้งแต่ที่อีเรน่าบังเอิญพบกับคนที่เธอเคยประทับใจอย่างโจเซฟเมื่อสมัยยังอยู่ที่ปราก เป็นการพบกันในวันแรกที่เธอกำลังจะกลับไปเหยียบแผ่นดินเกิดหลังจากที่สามีเสียชีวิตและเธอไม่ต้องการจะกลับไปแตะเท้าที่ปรากอีก นี่อาจเป็นการคาบเกี่ยวระหว่างความรู้สึกของตัวเธอเองที่ดีใจระคนสับสนกับตำแหน่งที่เธอยืน จนทำให้การหวนคืนสู่มาตุภูมิที่ทรมาณความรู้สึกครั้งนี้ (เธอจะกลับไปเพื่อพูดจากับใครในเมื่อจากมาหลายปีแล้ว กลับไปเท้าสะเอวมองเมืองที่เธอคุ้นหน้าแต่ไม่ผูกพัน แต่ในใจลึกๆ มันก็เป็นเมืองที่เธอเกิด และเคยอุ่นใจที่ได้อาศัยอยู่!) ลดความทรมาณลง
“คุณลี้ภัย?” อีเรน่ากล่าวถาม
“ใช่!” โจเซฟตีสีหน้า ปลายคิ้วลดต่ำพร้อมๆ กับไหล่ทั้งสองข้างที่ห่อตัวลง และรอยยิ้มเศร้าๆ ที่ประดับบนใบหน้า

ชายหนุ่มไม่เคยรู้สึกรู้สาอะไรกับการล้มลงของทักษิณ ชินวัตรหลังการทำรัฐประหารจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติจนในขณะนี้ที่มีวูบความคิดพัดเข้ามาในหัวการต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนไม่ว่าเขาจะกระทำกิริยาเยี่ยงอาชญากรสงครามภาคใต้ ยาเสพติด และระบบทุนนิยมอย่างที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ก็ตาม แต่การที่ต้องร่อนเร่เตร็ดเตร่ไปตามประเทศต่างๆ โดยไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้อย่างปลอดภัย ต่อให้ร่ำรวยมหาศาลขนาดไหนก็ไม่สามารถซื้อประเทศไทย และความเป็นไทยทั้งผืนใช้เรือลากไปตั้งเคียงกับเกาะบริติท เวอร์จิ้นเพื่อเอาเท่ได้ “ต่อให้คนเลวที่สุดในสายตาของคนทั้งโลกก็คิดถึงบ้านเป็น”
“คุณลี้ภัย?” นักข่าวกล่าวถาม
“คงใช่!” อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยตีสีหน้า ปลายคิ้วลดต่ำพร้อมๆ กับไหล่ทั้งสองข้างที่ห่อตัวลง และรอยยิ้มเศร้าๆ ที่ประดับบนใบหน้า

ณรวิตรสะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงเอ่ยถึงเที่ยวบินที่มีปลายทางอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิจากเสียงประกาศตามสาย เขาลุกขึ้นคว้ากระเป๋าสะพายใบใหญ่ และหนังสือเล่มที่ใช้ต่างหมอนลุกออกจากที่นั่งแถวยาวเพื่อออกเดินทาง ฝรั่งเศสถึงจะสวยงามอยู่บ้างแต่ก็มีกลิ่นไม่คุ้นอย่างไทยแลนด์ คิดถึงคำว่าสวัสดี คิดถึงอาหารที่มีให้กินตลอด 24 ชั่วโมง คิดถึงร้านกาแฟที่เขาฝากชีวิตนั่งดื่มด่ำคาปูชิโน่เย็นทุกเย็น หรือร้อนในบางเย็น คิดถึงงานแสดงภาพเหมือนในนิทรรศการศิลปะ “Look at me” ของศิลปินฝรั่งเศส “Patricia Tardy” ที่นัดกับเพื่อนและคนรักว่าจะไปดูด้วยกันที่โรทันด้า แกลเลอรี่ ห้องสมุดเนลสันเฮย์ที่ถนนสุรวงศ์ คิดถึงการแสดงดนตรี “Melody of life” นักดนตรีชาวไทย และสุดยอดวงดนตรีขี้เล่นสัญชาติฝรั่งเศสที่มีการผสมผสานเสียงเครื่องดนตรีกับเสียงสังเคราะห์ในท่วงทำนองรื่นหูที่ณรวิตรชื่นชอบอย่าง “Tahiti 80” ที่เซลทรัลเวิลด์ช่วงเดือนร้อนๆ อย่างเมษายน (เมษายน 2550) “อะไรๆ ก็ฝรั่งเศส!” เขาเองก็อดแปลกใจไม่ได้ กลับถึงบ้านคราวนี้เขาว่าจะหยิบหนังสือเล่มนี้กลับมาอ่านอีกสักรอบและจะลองให้คนรักยืมไปอ่านด้วย
“คุณลี้ภัย?” เจ้าหน้าที่กล่าวถาม
ณรวิชอมยิ้ม ไม่มีคำตอบใดเล็ดลอดไรฟัน กดสายตาตัวเองลงปิดสนิทแล้ววิ่งผ่านประตูสุดท้ายของสนามบิน Paris De Gaulle.....

15 February 2007

-: 1001 Books You Must Read Before You Die :-

1001 Books You Must Read Before You Die
Dr. Peter Boxall


“อย่างที่มีคนเคยพูดเอาไว้ว่า ใจความของการมอบของขวัญไม่ได้อยู่ที่ผู้รับต้องการอะไรจริงๆ แต่อยู่ที่ผู้ส่งตีความจากมุมมองตัวเองว่าผู้รับต้องการอะไรจริงๆ”


ในโลกที่วัตถุโบราณ งานศิลปะ และของที่มีคุณค่าทางจิตใจถูกเก็บสะสมไว้ในพื้นที่ส่วนตัวของมหาเศรษฐี หรือผู้ที่หลงไหลคลั่งไคล้บางคน บางกลุ่ม ที่พากันปิดประตูหน้าต่างแอบกระหนุงกระหนิงชื่นชมรื่นรมณ์กันด้วยไม่กี่การประสบพบคู่ของดวงตาเท่านั้น แวดวงหนังสือ และงานวรรณกรรม (จะคลาสสิกหรือไม่ก็ตาม) อาจจะทำตัวไม่ถูกว่าควรจะต้องโห่ฮาพากันดีใจ หรือตีสีหน้าสลดในแง่มุมที่งานเหล่านี้อาจมีคุณค่า และราคาเทียบไม่ได้กับงานศิลปะ หรือวัตถุโบราณเหล่านั้น จึงไม่เป็นที่นิยมถูกผู้มีเบี้ยใหญ่ หอยใหญ่ พากันแอบซุกซ่อนสะสมไว้ดูเล่นแต่เพียงผู้เดียวมากนัก

ก่อนคืนวันวาเลนไทน์จะผ่านมาทักทายส่งยิ้ม ณรวิตรยังคงหมกตัวอยู่กับการอ่านหนังสือ และนั่งดื่มด่ำกาแฟหอมกรุ่นอยู่คนเดียวในร้านกาแฟที่ตั้งสงบนิ่งอยู่กลางเมืองหลวง หลายปีที่ผ่านมานี้ชายหนุ่มได้รับของขวัญหลากหลายรูปแบบจากคนอื่นรอบกายต่างกรรมต่างวาระ แต่โดยรายละเอียดส่วนใหญ่มักจะเป็นของที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์อะไรได้มากนักในขณะที่ได้รับมา อย่างที่มีคนเคยพูดเอาไว้ว่า ใจความของการมอบของขวัญไม่ได้อยู่ที่ผู้รับต้องการอะไรจริงๆ แต่อยู่ที่ผู้ส่งตีความจากมุมมองตัวเองว่าผู้รับต้องการอะไรจริงๆ
แน่นอนว่าถ้าถามก่อนว่าเจ้าตัวอยากได้อะไรความประหลาดใจก็คงหมดไป! เขาจึงอดที่จะประหลาดใจทุกครั้งไม่ได้ที่ได้รับของขวัญมาจากผู้อื่น
ประหลาดใจ ว่าเขาควรนำของที่ได้ไปทำอะไรดี?

ไม่ต่างอะไรจากคนอื่น ณรวิตรก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มักซื้อของขวัญให้ผู้อื่นโดยใช้วิธีการสังเกตด้วยตัวเองว่าในขณะนั้นๆ สิ่งของชิ้นใดน่าจะเหมาะสมกับผู้รับมากที่สุด นับว่าเป็นโจทย์ที่ยุ่งยากและสร้างความลำบากใจให้กับตัวเองไม่น้อย ระยะหลังมานี้ชายหนุ่มจึงหาทางออกด้วยการมอบของขวัญในรูปแบบของหนังสือที่เขาอ่านแล้วคิดว่าเหมาะสมกับจริตของผู้รับ
แต่โชคดีที่วาระพิเศษของปวงชนชาวไทยอย่างวันวาเลนไทน์นี้ชายหนุ่มพอจะมีความคิดแล้วว่าจะมอบอะไรให้กับคนพิเศษของเขาดี

เพื่อนที่น่าสงสารคนหนึ่งโทรศัพท์มาทักทายณรวิตรในช่วงหัวค่ำหลังเลิกงาน และพร่ำบ่นถึงปัญหาว่าตัวเองคงถึงทางตันในการเลือกซื้อของขวัญพิเศษสักชิ้นให้กับแฟนสาวของเขา เสียงของเขาดูเคร่งเครียดจนทำเอาชายหนุ่มถอนหายใจโล่งอกที่สามารถขจัดปัญหานี้ของตัวเองได้ทันท่วงทีก่อนวันพรุ่งนี้จะมาถึง โดยไม่อยากรบกวนเนื้อสมองอีกครั้งชายหนุ่มจึงเสนอไม้ตายที่ใครหลายคนอาจมองว่าแปลกประหลาดสิ้นคิด (น่าเสียดายที่ไม่มีใครมอบของขวัญให้กันเป็นหนังสือมากนัก) ของตัวเองให้กับเขา “หรือจะเป็นหนังสือสักเล่มดี!”

เหมือนชีวิตของเพื่อนจะดีขึ้นเล็กน้อย ทำให้พอหายใจได้คล่องคอขึ้นบ้าง แต่พอช่วงเวลาผ่านไปชั่วครู่ชายหนุ่มกับพบว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ช่วยอะไรเลย ในประเทศที่คนอ่านหนังสือกันน้อยอย่างนี้ แล้วเพื่อนคนนี้จะมอบหนังสืออะไรให้กับคนที่เขารักในค่ำคืนสัญลักษณ์อันหวานฉ่ำพรุ่งนี้ดี ไม่ทันกระพริบตาดูเหมือนชีวิตของเขาและเพื่อนจะแย่ลงเล็กน้อย...

หากจะพูดถึงเรื่องหนังสือ หนังสือของ Dr. Peter Boxall อาจารย์บรรยายวิชาวรรณกรรมอังกฤษจากมหาวิทยาลัย Sussex อาจช่วยให้ชีวิตของณรวิตรและเพื่อนง่ายดายขึ้นอีกครั้ง นอกจากนั้นอาจช่วยกระตุ้นคุณค่าของแวดวงวรรณกรรมโลก และสร้างแนวทางการตามหาไล่ล่าหนังสือที่มีชื่อปรากฏอยู่ใน “1001 Books You Must Read Before You Die” ซึ่งอาจจัดได้ว่าเป็นหนังสือชั้นดีที่ใครๆ หลายคนไม่ควรพลาด (อย่างน้อยก็ในมุมมองของอาจารย์ผู้คลุกคลีอยู่กับงานวรรณกรรมระดับโลกคนนี้) ให้กับกลุ่มคนที่มีความรักในงานวรรณกรรมได้ไม่น้อย และยิ่งกว่านั้นหนังสือเล่มนี้ช่วยก่อให้เกิดการรวมตัวของนักอ่านชาวสหราชอาณาจักร รวมไปถึงอีกหลายประเทศ ที่เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติ รวมถึงแจ้งข่าวให้เพื่อนร่วมสังคมเสมือนบนโลก Cyber ทราบว่าในช่วงเวลานี้ตนทำแต้มอ่านหนังสือไปได้เท่าไรแล้ว และแน่นอนว่ามีบางคนสามารถจบการอ่านหนังสือชั้นดีของโลกถึง 1,001 เล่มนี้ลงได้แล้วจริงๆ
“1001 Books You Must Read Before You Die” ได้รวบรวมรายชื่อ และรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และผู้เขียนแต่ละคน แต่ละเรื่องไว้ตั้งแต่ก่อนคริสตศตวรรษที่ 17 เรื่อยไปจนถึงปีคริสตศักราช 2000 หลายต่อหลายเล่มเป็นผลงานระดับวรรณกรรมคลาสสิกของโลก และหลายต่อหลายเล่มก็ผ่านการได้รางวัลระดับแนวหน้าไม่ว่าจะเป็นรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม หรือรางวัลพูลิชเชอร์ ซึ่งหากจะสังเกตผ่านมุมมองของ Dr. Peter Boxall จะพบว่าหนังสือในคริสตศตวรรษที่ 19 ค่อนข้างมีสัดส่วนที่สูงกว่าช่วงอื่นๆ ที่ได้จัดเรียงเอาไว้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเพราะในยุคนี้มีรายชื่อของนักเขียนระดับโลกหลายคนชวนให้คุ้นหูอยู่ไม่น้อยในสายหูของนักอ่านหลายๆ คน
น่าเสียดายที่ชื่อหนังสือส่วนใหญ่นั้นกลับไม่เป็นที่รู้จักสำหรับประชาชนคนไทย ที่ใช้ชีวิตอยู่กับทางเดินกระแสหลักที่ถูกป้อนให้ด้วยสื่อไม่กี่ช่องทาง
คงเหมือนกับการที่ชายหนุ่มรู้สึกเสียดายที่มีคนไม่กี่คนชวนเพื่อนของเขาไปเดินห้างหรูเลิศใจกลางเมือง และเพื่อนก็อาจจะชอบและยินดีไปเสียด้วย โดยปฏิเสธคำเชิญชวนของณรวิตรที่ชวนไปดูงานนิทรรศการ "Platform, New Media Lab" โดยวิชญ์ พิมพกาญจนพงศ์, อริญชย์ รุ่งแจ้ง, ปรัชญา พิณทอง, สุทธิรัตน์ ศุภปริญญา, อังกฤษ อัจฉริยะโสภณ ศิลปินชาวไทย กับ Alex Davies และ Ryan Griffith อีกสองศิลปินชาวออสเตรเลีย ที่ The Queen Gallery เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา
เหมือนกับใครหลายคนรวมถึงคนรักของณรวิตรเองรู้จักแค่แม่น้ำเจ้าพระยา สถานที่ซึ่งสวยงามและก่อให้เกิดบทเพลงของวงสุนทราภรณ์ โดยหารู้ไม่ว่ายังมีแม่น้ำบลู ดานูบ (Blue Danube) ที่สดสวยเพียงใด และมีที่มาที่ไปอย่างไรจนกลายมาเป็นบทเพลงชื่อก้องโลกของโยฮัน สเตร้าทส์ (JOHANN STRAUSS)
คงจะดีถ้ามีนักแปลตามไล่แปลหนังสือเหล่านี้เป็นภาษาไทยให้หมด และมีสำนักพิมพ์ไล่พิมพ์หนังสือเหล่านี้ด้วยเช่นกัน เผื่อบางทีเราจะได้มีนักอ่านตามไล่อ่านหนังสือเหล่านี้ให้ได้ก่อนจะหลับตาตาย

แตกต่างลิบลับกับสังคมที่ถือว่าครอบครองพื้นที่วัฒนธรรมในเขตประเทศไทยไว้เกือบทั้งหมดอย่างสหรัฐอเมริกาที่ใครหลายคนชื่นชมอย่างไม่ระแวงสงสัย และใครอีกหลายคนคิดขวางอย่างแข็งขืน หากเมื่อจะลองยกข้อดีอย่างน้อยที่สุดเช่นเรื่องหนังสือและงานวรรณกรรม ณรวิตรรู้มาว่าหนังสือประกอบการเรียนการสอนของเด็กมัธยมทั่วทั้งประเทศเสรีแห่งนี้บรรจุวรรณกรรม บทกวี บทสารคดี บทละครและอื่นๆ อีกมากมาย ไว้ในหนังสือเล่มหนาห่อหุ้มด้วยปกสีสันสวยงามน่าเปิดอ่าน และเคลือบไว้ด้วยความภาคภูมิใจของคนทั้งประเทศถึงงานของนักเขียน และตัวของนักเขียนเองอย่างประหลาดลิ้น และผนวกเข้าเป็นหนึ่งในรายวิชาที่แม้แต่เด็กมัธยมยังต้องเรียนรู้ และเลือกอ่านได้อย่างอิสระ ชายหนุ่มนึกท้อถอยที่บางครั้งงานศิลปะในเขตประเทศขวานทองห่อผ้าลายอเมริกันของเรานี้ทำไมถึงได้รับเกียรติอันน้อยนิดในสายตาของผู้ร่างลายเส้นสมองให้แก่เยาวชน ไม่น่าแปลกถ้าเขาอาจจะถูกตอกหน้ากลับมาโดยเพื่อนร่วมชาติหลากล้นจนนับไม่ทันถ้วนดีว่า "ท้องยังไม่ทันอิ่ม จะรีบไปนั่งยิ้มดูโอเปร่าหาสวรรค์อะไร!" ชายหนุ่มรู้เหตุผลหลักข้อนี้ดี รู้และเข้าใจทั้งๆ ที่เห็นตำตาว่าคนร่ำรวยที่ร่ำรวยจนคนที่ได้เฉียดชีวิตเข้าไปใกล้ต้องน้ำลายสอนั้นก็มากโขมิใช่หรือ? แต่จะว่าไปคนยากจนที่ยากจนแสนทุกขเวทนาจนน่าน้ำตาสอก็ยังยืนหน้าสลอนเหมือนมีสัดส่วนไม่ต่างกันและอาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ คนรวยก็ร่ำรวยจนสามารถเอาขาชี้ขึ้นแตะฟ้า คนจนก็ยากจนจนทำได้แค่เอาใบหน้าก้มแตะดิน เอานิยายอะไรกับประเทศกึ่งดิบกึ่งสุกผืนนี้ เขาทำใจให้คล้อยตามถึงเหตุผลนั้นไม่ได้ และไม่เคยได้สักที

น้ำแข็งก้อนหนึ่งในแก้วกาแฟเย็นละลายตกลงในช่องว่างของน้ำแข็งก้อนอื่นๆ เสียงดังจนเรียกสติของชายหนุ่มกลับมาอีกครั้ง จนแล้วจนรอดภายในหัวของณรวิตรก็ยังว่างเปล่าสรุปไม่ได้เสียทีถึงของขวัญชิ้นพิเศษสำหรับคนรักของเพื่อน ถ้าเขาแนะนำให้เพื่อนมอบหนังสือให้คนพิเศษสักเล่มจริงๆ เธออาจจะออกปากบ่นเอาได้ว่าหนังสือวรรณกรรมเยอรมันของ Kafka ไม่ได้เหมาะกับเธอสักนิด หรือหนังสือชวนหัวของ Kundera ทำให้เธอกลายเป็นคนมองโลกผิดแผกไปจากคนอื่น ทำให้อยู่ร่วมสังคมที่น่าอยู่ร่วมนี้ยากเย็นยิ่งขึ้น วรรณกรรมของกนกพงศ์เพื่อชีวิตเกินไปจนอยากจะปลีกวิเวกไปใช้ชีวิตตามชนบท หรือที่ร้ายกาจที่สุดเธอออาจสบถถ้อยคำผรุสวาทที่สุดจะคาดเดา แล้วชี้แจงให้เห็นว่าเธอไม่รู้จักหนังสือเหล่านั้น เธอต้องการหนังสือดาราบันเทิง ชีวิตรันทดอันน่าภูมิใจของสาวไซด์ไลน์ หรือหนังสือวิธีการบอกเลิกแฟนให้ได้ภายในห้าวันมากกว่า (!!?) นั่นอาจเป็นเพราะเธอเคยชินกับสภาพแวดล้อมกระแสหลักที่สอนให้เธอสะกดคำว่า-ชีวิต-ในแบบนั้นโดยเธอไม่สามารถโต้แย้งและมีทางเลือกอื่น หรือหากมีก็ยากจะเข้าถึง (โดยหารู้ไม่ว่ามีวิธีการสะกดคำว่า-Shewith-มากกว่านั้นหลากหลายรูปแบบ) หรือหากเข้าถึงได้ก็คงไม่กล้า หรือหากกล้าก็คงถูกสังคมโดยรวมหันหน้ามามองอย่างลังเลสงสัย หรือหากพวกเขาไม่ลังเลสงสัย...
หรือหาก...
หรือหาก...
หรือหาก...
...คนเรามีทางเลือกที่หลากหลายและยอมรับในความแตกต่างของแต่ละบุคคลได้!

เอาหล่ะ! ณรวิตรกล่าวเสียงดังกับตัวเองและเพื่อนไปพร้อมๆ กัน
“ถ้าอยากซื้อหนังสือให้จริงๆ โทรไปถามตาลุง Peter Boxall บางทีเขาอาจช่วยอะไรคุณได้ เขาค่อนข้างรอบรู้เรื่องเหล่านี้ทีเดียว” ชายหนุ่มอมยิ้มแล้วรีบตัดสายปิดเครื่องไป โดยยังคงมีเพื่อนที่คงกำลังทำหน้างุนงงอยู่อีกปลายสายที่ขณะนี้ห้อยร่องแร่งอยู่
กาแฟในแก้วกลับมาอร่อยอีกครั้ง แม้น้ำแข็งจะละลายไปหมดแล้ว...


รายชื่อหนังสือใน “1001 Books You Must Read Before You Die”