“เขาพบว่าเมื่อคนเราถูกจำกัดอยู่ในกฏกรอบใดๆ มากเกินไป ก็จะเผยธาตุแท้แห่งมนุษย์ออกมา”
ชาตรีกำลังนั่งเขย่าขาตามจังหวะดับเบิ้ลเบสอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สองหูถูกเสียบคาไว้ด้วยเครื่อง Mp3 ที่กำลังส่งเสียงเพลงจังหวะนุ่มไพเราะอย่าง Dream a little Dream of me ของ Nat King Cole นักร้อง นักเปียโนแจ๊สชาวอเมริกัน พระอาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้าแล้ว ผู้คนที่เดินผ่านหลังเขาเริ่มน้อยลงทุกทีๆ จนสักพักก็เหลือเพียงถนนว่างเปล่า เขายังคงปล่อยสายตาเหม่อลอยออกไปไกลแสนไกล
ท่ามกลางสังคมที่หมุนเร็วจนน่าเวียนหัว ผู้คนต่างเร่งรีบ แย่งกันกิน แย่งกันเดิน แย่งกันหายใจเช่นนี้ การนั่งปล่อยอารมณ์โดยไม่แคร์สายตาใครอย่างที่ชาตรีทำ อาจสร้างความสงสัยและรำคาญใจให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมาในบริเวณนั้นได้ไม่น้อย ทั้งๆ ที่จริงแล้วมนุษย์ทุกคนกลับต้องการเพียงมุมสงบเล็กๆ ให้ตัวเองได้ตื่นขึ้นมาแล้วมีอาหารกิน มีที่อยู่อาศัย มีเสื้อผ้าใส่ มียารักษาโรค และที่สำคัญคือมีความสุขใจเพียงแค่นั้นไม่ใช่หรือ? แล้วชาตรีผิดตรงไหน ถ้าต้องการมีพื้นที่ส่วนตัวเล็กๆ หลังวันทำงานอันหนักหน่วง?
Space - ในความหมายเชิงปัจเจกบุคคล
ตัวตน (Self) และอัตลักษณ์ (Identity) เป็นคำที่มีความหมายเกี่ยวข้องกันและมีความสัมพันธ์กับวิชาหลากหลายแขนงทางสังคมศาสตร์ ทั้ง สังคมวิทยา มานุษยวิทยา จิตวิทยา และปรัชญา โดยซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) จิตแพทย์ผู้คิดค้นแนวคิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ได้ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์มิได้เป็นสัตว์ที่มีเหตุผลดังเช่นที่พวกเขาเชื่อหรืออยากเป็น หากแต่ความคิดของมนุษย์ถูกกำหนดโดยพลังแห่งจิตไร้สำนึกที่ซ่อนเร้นและหลุดรอดจากความเข้าใจของมนุษย์ตลอดมา
เขาพบว่าเมื่อคนเราถูกจำกัดอยู่ในกฏกรอบใดๆ มากเกินไป ก็จะเผยธาตุแท้แห่งมนุษย์ออกมาผ่านการกระทำ ความคิด ความเชื่อ หรือเรื่องราวเกี่ยวกับตัวตน ซึ่งจะถูกกำหนดให้แสดงออกโดยจิตไร้สำนึก (unconscious), แรงขับ (driver) และความปรารถนา (desire)
และอันที่จริงแล้วการแสดงออกของมนุษย์เมื่อสูญเสียพื้นที่ส่วนตัวให้แก่พื้นที่สาธารณะมากเกินไป จะไม่ใช่เพียงการนั่งติสต์แตกห้อยขาอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนชาตรีทำแต่เพียงอย่างเดียว เพราะตามเงื่อนไขของฟรอยด์นั้น มนุษย์จะมีกลไกที่ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันพื้นที่ส่วนตัวของตนเองที่เรียกว่า ‘Ego Defense Mechanism’ ซึ่งประกอบไปด้วย
- การไม่ตัดสินใจเลือกข้างใดข้างหนึ่ง (Ambivalence) เป็นสภาวะที่ Ego ไม่ตัดสินใจเลือกข้างใดข้างหนึ่งให้เด็ดขาดลงไป แต่จะตกอยู่ในสภาวะสองจิตสองใจ
- ปฏิกิริยาการหลบหนี (Avoidance) เป็นปฏิกิริยาการหลบหนีจากวัตถุ ผู้คน หรือเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องเจ็บปวด เนื่องจากต้องข่มความรู้สึกที่พลังทางเพศและความก้าวร้าวอันแฝงอยู่ในจิตไร้สำนึกถูกกระตุ้นให้สำแดงความปรารถนาออกมา
- การหยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง (Fixation) เป็นสภาวะที่หยุดอยู่กับที่ไม่ยอมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปเพราะประสบการณ์อันเจ็บปวด (Trauma) เช่น ชาตรีที่เคยสูญเสียพ่อแม่ก็จะไม่สร้างความรักกับใครอีกเลยแม้แต่พอลล่า เทเลอร์ หากจะเกาะยึดอยู่กับความรู้สึกสูญเสียที่เกิดขึ้น
- การเลียนแบบ (Identification) คือการปรับตัวโดยการเลียนแบบบุคคล หรือสิ่งของที่ตนชื่นชอบ โดยการพยายามปรับเปลี่ยนด้วยความรู้สึกทางจิตใจ มิใช่เพียงพฤติกรรมเท่านั้น เช่นการที่ชาตรีแสดงพฤติกรรมให้เหมือนกับชาลี (ใคร?) ซึ่งอาจเป็นดารา นักแสดงหรือตัวละครต่างๆ
- การป้ายความผิดให้ผู้อื่น (Project) คือการลดความวิตกกังวล โดยการโยนหรือป้ายความผิดไปให้กับผู้อื่น
- การแสดงปฏิกิริยาตรงข้ามกับความปรารถนาที่แท้จริง (Reaction Formation) คือการที่แสดงออกในสิ่งที่ตรงข้ามกับที่ตนรู้สึก เพราะคิดว่าสังคมอาจยอมรับไม่ได้
- การเก็บกด (Repression) เป็นการเก็บความรู้สึกผิด ความคับข้องใจเอาไว้ในจิตใต้สำนึกจนกระทั่งลืม ซึ่งการเก็บกดนี้หากต้องเก็บความรู้สึกเอาไว้มากอาจทำให้เป็นโรคประสาทได้
- การขจัดความรู้สึก (Supersession) มีลักษณะคล้ายกับ Repression แต่เป็นกระบวนการขจัดความรู้สึกดังกล่าวออกไปจากความคิด และเป็นกระบวนการที่เกิดอย่างที่ผู้กระทำมีความรู้ตัวและตั้งใจ ในขณะที่ Repression นั้นไม่รู้ตัว
- การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) คือการหาเหตุผล หาคำอธิบาย มาอ้างอิง มาประกอบการกระทำของตนเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น
- การชดเชยหรือการทดแทน (Substitution/Compensation) การชดเชยหรือการทดแทนด้วยการหาทางออก ในอันที่จะแสดงความต้องการของตน เช่น ชาตรีต้องการระบายความก้าวร้าวก็หันไปเล่นกีฬาทดแทน หรือวิพากษ์วิจารณ์ศิลปะ เป็นการชดเชยในสิ่งที่สังคมยอมรับได้
- การถดถอย (Regression) คือการหนีกลับไปอยู่กับสภาพอดีตที่ตนเคยมีความสุข เช่น ผู้ใหญ่เมื่อเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดก็แสดงอาการกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง
- การสร้างวิมานในอากาศ หรือการฝันกลางวัน (Fantasy / Day Dreaming) คือการคิดฝัน หรือสร้างวิมานขึ้นเองเพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่สามารถเป็นจริงได้
- การแยกตัว (Isolation) คือการแยกตัวให้พ้นจากสถานการณ์ที่นำความคับข้องใจมาให้ โดยการแยกตนออกไปอยู่ตามลำพัง
- การหาสิ่งที่มาแทนที่ (Displacement) คือ การระบายอารมณ์โกรธ หรือคับข้องใจต่อคนหรือสิ่งของที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุของความคับข้องใจ
ผลลัพธ์ของการมีขอบเขต Space ในเผ่าพันธุ์มนุษย์
ในบทความเรื่องย้อนรอยมวลหมู่มนุษยชาติของเจมส์ ชรีฟ ได้เผยให้เรารู้ว่าบรรพบุรุษมนุษย์ไม่กี่ร้อยคนมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่แอฟริกา ก่อนที่จะเดินทางมุ่งไปทางตะวันออกเมื่อราว 200,000 ปีที่แล้ว และการแยกย้ายไปยังทวีปต่างๆ นี้เอง ที่ทำให้มนุษย์มีรูปร่างหน้าตาและเชื้อชาติใหม่ๆ เกิดขึ้น จนจบลงด้วยจำนวนประชากรบนพื้นโลกราว 7,000 ล้านคนในปัจจุบัน
หนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเดินทางออกจากแอฟริกาของบรรพบุรุษ มาจากการขาดซึ่ง Space ส่วนตัวเมื่อจำนวนของประชากรต่อพื้นที่เริ่มหนาแน่นขึ้น เช่นเดียวกับการย้ายที่อยู่อาศัยของคนกรุงเทพฯ จากเมืองหลวงไปสู่หัวเมืองใหญ่ที่ยังพอมีสาธารณูประโภคให้ใช้อย่างสบายมือและไม่ต้องไปรบรากับคนหมู่มาก อย่าง เชียงใหม่ พัทยา รวมไปถึงหัวหิน เหมือนที่ชาตรีเคยเอ่ยปากกับผมอยู่ครั้งหนึ่ง “เฮ้ย! กูอยากจะไปใช้บั้นปลายชีวิตที่เชียงใหม่ว่ะ” ก่อนที่ผมจะสวนกลับไปว่า “เขาไม่ต้อนรับมึงหรอก” แต่ห้ามชาตรีอย่างไรก็คงยาก เพราะตามแผนที่การเดินทางของมนุษย์ได้บอกแก่เราว่า การย้ายถิ่นฐานเพื่อเพิ่มพื้นที่ส่วนตัวให้ตนเองจะยังคงมีอยู่ตลอดไปตราบใดที่มนุษย์ยังไม่ได้เป็นสัตว์สังคม
การอพยพจาก Private Space สู่ Public Space
จากข้อมูลเหล่านี้ได้ช่วยไขข้อข้องใจให้ชาตรีได้ไม่น้อย เพราะใครหลายคนรวมถึงเขาคงเคยสงสัยอยู่ว่า ถ้ามนุษย์ต้องการพื้นที่ส่วนตัวจริง แล้วทำไมสังคมในรูปแบบ Public Space อย่าง Hi5, mySpace รวมไปถึง Facebook ของหนุ่มมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) จึงได้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมๆ กับเสียงตอบรับอันล้นหลาม แม้แต่ชาตรีก็มีกับเขาไปด้วย
ซึ่งถ้าหากมองให้ดีแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ได้แตกต่างอะไรกับการอพยพของผู้คนจากโลกใบจริงไปสู่โลกเสมือน เพราะในปัจจุบันนี้โลกใบจริงเริ่มมีข้อจำกัดและริดรอนสิทธิการแสดงออกถึงเรื่องส่วนตัวมากขึ้น จนสร้างความรำคาญและความอึดอัดใจให้แก่ผู้อยู่อาศัย แต่เมื่อข้อจำกัดด้านทุนทรัพย์และวัฒนธรรมสมัยใหม่เริ่มบังคับไม่ให้ผู้คนโยกย้ายถิ่นฐานไปไหนต่อไหนตามใจแบบยิปปี้ การแพ๊กกระเป๋าแล้วเดินทางสู่โลกเสมือนจึงได้เริ่มต้นขึ้น
บทสรุป
เพราะความผิดเพี้ยนในจิตใจมนุษย์อาจเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ครั้งที่โลกได้พลิกเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมทุนนิยมอุตสาหกรรม กฎระเบียบอันยุ่งเหยิงได้สร้างเงื่อนไขให้ชาตรีและมนุษย์เราแบกรับไว้อย่างเลี่ยงไม่ได้ ต้องทำงานก็ต้องตื่นแต่เช้า ต้องมีเงินก็ต้องขวนขวายทำงานหนัก ต้องทำงานหนักก็ต้องเหนื่อย และเมื่อต้องเหนื่อย ชาตรีก็จำเป็นต้องใช้ชีวิตอย่างไร้ความสุข ขณะนี้ชาตรีกำลังนั่งเขย่าขาตามจังหวะดับเบิ้ลเบสอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปหมดทั้งดวงแล้ว ถนนเส้นเดิมที่ชาตรีนั่งยังคงว่างเปล่า
เขาลุกเดินไปสตาร์ทรถยนต์คันหรู แล้วเริ่มขับเข้าไปหาความวุ่นวายบนพื้นที่ส่วนรวมอีกครั้งอย่างเลี่ยงไม่ได้… บ้ายบายชาตรี พรุ่งนี้เจอกัน!
บรรณานุกรม
1. เอมอร ลิ้มวัฒนา. พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ส่วนตัว และเรื่องตัวตนบนไซเบอร์สเปซ ใน บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน. 2551.
2. ไชยันต์ ไชยพร. Post Modern Man คนกับโพสต์โมเดิร์น. สำนักพิมพ์ openbooks. 2552.
3. Fritjof Capra. The Turning Point: Science, Society, and the Rising Culture. Publisher: Bantam. 2527.
4. เจมส์ ชรีฟ (James Shreeve). ย้อนรอยมวลหมู่มนุษยชาติ ใน National Geographic ฉบับภาษาไทย. มีนาคม 2549.
เผยแพร่ครั้งแรกที่ - คอลัมน์ Crush Archive นิตยสาร Crush Magazine (พฤษภาคม 2552)