30 May 2007

-: ความฝันในยามตื่นของคนไม่วิกลจริต :-

ความฝันในยามตื่นของคนไม่วิกลจริต

“พัดลมที่ปลายเตียงพัดเอาลมร้อนพุ่งเข้าหาตัวไม่หยุดหย่อน จนทำให้ตัดสินใจลำบากระหว่างการเลือกที่จะปิดมันเสียเพื่อหลีกหนีจากระลอกพัดของลมร้อนกับการนั่งอบอ้าวอยู่ตามลำพัง”

ไม่ว่าโลกของเราจะร้อนขึ้นหรือเย็นลง มนุษย์ส่วนใหญ่ก็อาจจะได้แต่ตื่นตระหนก! สะดุ้ง! สงสัย! กระวนกระวายใจ! แล้วหลังจากขนลุกและทุกข์ร้อนอยู่ชั่วครู่หนึ่ง ครอบครัว เจ้านาย ลูกน้อง การงาน และที่ประชุมก็จูงมือพวกเขาเหล่านั้นกลับไปสู่ชีวิตประจำวันที่หนักหนา ค่าเงินที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง? เศรษฐกิจที่ถีบตัวสูงหรือตกต่ำ? กำไรหรือขาดทุน? เงินเดือนขึ้นหรือไม่ขึ้น? เลื่อนตำแหน่งหรือไม่เลื่อน? เหล่านั้นต่างหากที่สำคัญกับปากท้องของพวกเขามากกว่าโลกจะร้อนขึ้นหรือเย็นลง...

ค่ำคืนวันที่ 21 เมษายน 2550 ณรวิตรพลิกตัวกระสับกระส่ายไปมาเนื่องจากนอนไม่หลับ หลังจากตกลงปลงใจที่จะไม่เปิดแอร์เพื่อร่วมเฉลิมฉลองไปกับเช้าวันที่ 22 เมษายน 2550 อย่างเต็มภาคภูมิ วันที่ 22 เมษายนของทุกปีที่รู้จักกันในนามของวันคุ้มครองโลก (Earth Day) เป็นวันที่มนุษย์ทุกคนควรจะต้องใคร่ครวญ ระลึกและหาหนทางเยียวยาสภาพแวดล้อม และทรัพยากรที่ธรรมชาติมอบเป็นของขวัญให้แก่เรา ซึ่งในขณะนี้พวกเราหยิบใช้เหมือนไม่มีวันหมด และรุมทำร้ายเหมือนไม่มีวันแตกสลาย โดยเฉพาะณรวิตรที่ชอบการอ่านหนังสือที่พิมพ์จากกระดาษเป็นชีวิตจิตใจ เขาจึงมีส่วนร่วมโดยตรงกับวันคุ้มครองโลก ประเด็นต่างๆ นี้วิ่งวนอยู่ในความคิดของเขาตลอดทั้งคืนแต่กลับไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้เขานอนไม่ค่อยหลับในค่ำคืนนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วเขาร้อนเพราะไม่ได้เปิดแอร์!
ช่วงเช้าใกล้จะเข้ามาถึงเต็มที ยิ่งกดดันให้ณรวิตรกระสับกระส่ายมากยิ่งขึ้น ไม่รู้ว่าจะไปเอาเรี่ยวแรงและความสดชื่นมาจากไหนในการที่ต้องลุยงานหนักในวันรุ่งขึ้นหากยังไม่สามารถข่มตาลงนอนได้ในค่ำคืนนี้ พัดลมที่ปลายเตียงพัดเอาลมร้อนพุ่งเข้าหาตัวไม่หยุดหย่อน จนทำให้ตัดสินใจลำบากระหว่างการเลือกที่จะปิดมันเสียเพื่อหลีกหนีจากระลอกพัดของลมร้อนกับการนั่งอบอ้าวอยู่ตามลำพัง ก็เพราะความละโมบในทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมนี้มิใช่หรือที่ส่งผลร้ายทั้งทางตรงเช่นอากาศปรวนแปรและภาวะโลกร้อน และทางอ้อมอย่างการล้นเกิน และขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติจนนำมาซึ่งหลายๆ สงคราม ณรวิตรรำลึกไปถึงบทกลอน “HOIST THE SAILS!” จาก “John McConnell” นักเคลื่อนไหวด้านสันติภาพ

“Four billion years ago
Our lonely Earth
Set sail on cosmic seas
Guided by an unseen hand
Of nature, God or chance.

As life evolved
Through endles eco-cycles
Man was born, destined
To destroy or enrich
the Precious Ship.

And now his hand
Has seized the tiller
But his ear has not
Yet caught the Captain's
Quiet command.

The sails are down, the ship becalmed,
Its fragil life at stake.
No longer do we ride the gentle swells of
Silent seas and breathe
The fragrant air.

Broken are the rhythms
Of our cyclic plants
And other living things.

But now the Captain speaks again
Our quiet thoughts at last reveal his voice.

"Hoist the sails, Earth Man.
Set them for celestial winds.
Hold the tiler firm,
The course ahead is clear."

Be He nature, God or chance
His voice is heard
And we shall heed
The Captain's quiet command.”


หากโลกของเรามีชีวิต... ไม่รู้ว่าตอนนี้เขากำลังคิดอย่างไรอยู่?

ค่ำคืนเคลื่อนคล้อยไปอย่างไม่หยุดหย่อนชายหนุ่มหยิบหนังสือ “ความฝันของคนวิกลจริต (The Dream of a Ridiculous Man)” จากชั้นหนังสือขึ้นมาอ่าน อีกมือที่กำลังว่างหมุนปรับความดังของวิทยุ เพลงเบาสบายจากอัลบั้ม “Brushfire Fairytales” ของหนุ่มเนื้อหอม “แจ็ค จอห์นสัน (Jack Johnson)” ดังคลอสม่ำเสมอไปกับจังหวะการมาถึงของตัวหนังสือ
ความฝันของคนวิกลจริตเป็นเรื่องสั้นลำดับสุดท้ายในชีวิตของ “ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Mikhalovish Dostoevsky)” นักเขียน-นักคิดผู้ยิ่งใหญ่จากประเทศรัสเซียที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เคยกล่าวเอาไว้ว่า “ดอสโตเยฟสกีให้อะไรผมยิ่งกว่านักวิทยาศาสตร์คนไหนๆ” เรื่องสั้นที่สมบูรณ์และเต็มไปด้วยจินตนาการกล่าวถึงโลกในอุดมคติในความฝันของชายที่วางปืนอยู่บนโต๊ะตรงหน้าเขา และผลอยหลับไปในขณะที่กำลังรอคอยให้ความคิดในหัวหยุดลงเพื่อจะได้สังหารชีวิตของตัวเองสักที โลกในอุดมคตินี้ผู้คนสดใสและเบิกบาน รักใคร่และหวังดีต่อสิ่งมีชีวิตรอบข้างไม่ว่าจะเป็นเพื่อนมนุษย์ สัตว์ ต้นไม้ และดวงดาว(ที่ดูจะเป็นสิ่งมีชีวิตเช่นกันในสายตาของพวกเขา) โลกที่แม้ใครได้อ่านก็คงนึกอิจฉาและอยากให้ปรากฎโลกแบบนั้นในโลกของเราบ้าง ยิ่งในสมัยนี้ที่ปัจจุบันกาลดูวิ่งไปข้างหน้ารวดเร็วจนนึกกลัวว่าจะแซงอนาคตในบางวัน...
“Slow down, every one. You’re moving too fast.” – “ช้าลงหน่อยทุกๆ คน พวกคุณช่างเคลื่อนไหวเร็วเสียจริง” - ข้อความจากเพลง “Inaudible Melodies” ดังขึ้นช่วยทำให้ค่ำคืนนี้เย็นขึ้น และช้าลงได้บ้าง

“คลื่นจากท้องทะเลสีเขียวมรกตโยนตัวเข้าหาฝั่งอย่างสงบนุ่มนวลราวกับสัมผัสลูบไล้จากมืออันละมุนละไมของคนรัก”
“มวลหมู่นกก็พากันกระพือปีกอยู่เกรียวกราวโดยปราศจากความหวาดกลัวต่ออาคันตุกะแปลกหน้า... พวกมันโผบินลงมาเกาะตามมือและไหล่ของผม แล้วใช้ปีกนุ่มนิ่มทั้งสองข้างของมันหยอกเอินผมอย่างอ่อนหวานน่ารัก”
(หน้า 49 ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 สำนวนแปล มนตรี ภู่มี สำนักพิมพ์สามัญชน)

ตัวหนังสือที่จดจารโลกในอุดมคติแห่งนี้ อาจไม่ได้อยู่ในลำดับที่เท่าไรเลยของ “1001 Books You Must Read Before You Die” ของ Dr. Peter Boxall ที่ณรวิตรกำลังไล่ตามอ่านให้ครบด้วยความสนุกและแอบชื่นชมว่าเป็นการชุมนุมของชื่อเล่มทั้ง 1,001 เล่มที่น่าสนใจทีเดียว เขาพยายามตามอ่านหนังสือทั้ง 1,001 เล่มไม่ได้เพียงเพราะเก็บสถิติหรือเพื่ออวดโอ้ใครต่อใคร และไม่ได้คิดว่าจะมีแค่ 1,001 นี้ที่น่าติดตาม แต่ในทางกลับกันทั้ง 1,001 เล่มนี้ก็ไม่สมควรพลาดด้วยประการทั้งปวงอยู่ดี ระหว่างทางที่ตัวเอกในเรื่องกำลังเดินทางกลับบ้าน โดยหวังจะกลับไปทำลายชีวิตของตัวเองลงที่ห้องพักเก่าและคับแคบกลับได้พบการขัดจังหวะของเด็กผู้หญิงตัวน้อยๆ ที่สะอึกสะอื้นเข้ามาขอความช่วยเหลือจากเขา การขัดจังหวะที่กระทบกระเทือนความมุ่งหมายแรกจนส่งผลลัพธ์ในตอนท้ายของเรื่อง ช่างเป็นการขัดจังหวะที่เต็มไปด้วยพลัง ไม่ต่างกันกลับการขัดจังหวะของณรวิตรโดย “ความฝันของคนวิกลจริต” จึงไม่ได้ทำให้ชายหนุ่มรู้สึกเสียเวลาแม้แต่น้อยในการตามอ่านทั้ง 1,001 เล่มนั้นเช่นเดียวกัน ทั้งคราวนี้ยังเป็นการขัดที่ทำให้จังหวะเงางามขึ้นมาเสียด้วยซ้ำ

เสียงไก่ขันลอดเข้ามาทางหน้าต่าง เสียงเพลงหยุดเล่นไปนานแล้วไม่รู้ว่าประมาณช่วงไหนของคืน พัดลมปลายเตียงยังคงบริการลมที่ร้อนระอุแก่เขาอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง เขาขยับตัวครั้งสุดท้ายรับดวงอาทิตย์ที่กำลังโผล่พ้นจากขอบฟ้าขึ้นมาทักทายโลกมนุษย์จริงๆ แม้จะไม่ใช่แห่งที่เดียวกันกับโลกในหนังสือที่ถูกคั่นอยู่ที่หน้า 79 ในมือของณรวิตรในขณะนี้
ไม่รู้ชายหนุ่มหลับไปหรือยัง?

No comments: