30 May 2007

-: ความเหงาในความเขลา :-

ความเหงาในความเขลา

“แล้วเมื่อคราวมีปัญหาที่แก้ไขเพียงคนเดียวไม่ได้ คนที่อยากจะคว้าตัวเอามาซุกกอดในอ้อมแขนอันอบอุ่นที่สุดแล้วก็กลับอยู่ห่างไกลเสียจนไม่ได้ยินเสียงร่ำไห้ของกันและกัน ”

ณรวิตรลืมตาขึ้น ยามแสงแรกแห่งโลกของการตื่นกำลังผลิดอกออกแสงอบอุ่นเข้าแยงตาและชโลมผิว ทีแรกความสลึมสลือยังคงปรากฎอยู่เต็มตาจนทำให้ทุกอย่างรอบกายคลุมเครือ จนท้ายที่สุดเมื่อหนุ่มณรวิตรสามารถประคองสติสัมปะชัญญะกลับคืนมาได้เขาก็พบว่าภายใต้ความสว่างรอบกายที่เขาคุ้นเคยในทุกเช้า กลับไม่ใช่บ้านที่คุ้นเคยเป็นอย่างดี ที่นอนที่กระด้างและระคายสัมผัส หมอนหนุนที่สูงค้ำคอจนเมื่อยล้ามาถึงกลางหลังซึ่งความจริงเป็นเพียงเก้าอี้แถวยาวสำหรับการนั่งรอของผู้คน และหนังสือเล่มหนาที่หนุนหัวเขาอยู่ต่างหาก ณรวิตรหันมองซ้ายทีขวาทีแล้วพบกับภาพผู้คนแปลกหน้าหญิง ชาย หนุ่ม สาว เด็ก แก่ที่กำลังดำเนินชีวิตหลากหลายตามปรกติของพวกเขาและพวกเธอเหล่านั้นยิ่งเร้าให้ความสงสัยของณรวิตรพลุ้งพล่านขึ้นเป็นทวีคูณ

“นี่มันไม่ใช่บ้าน!” คล้ายกับรำพึงรำพันกับตัวเอง แต่เสียงพูดแรกที่หลุดออกมาจากปากของเขาน่าจะดังเกินปรกติ ชายหนุ่มสะดุ้งเมื่อรู้สึกเหมือนไม่สามารถควบคุมการเปล่งเสียงของตนเองได้ในสถานที่แปลกหน้าแห่งนี้ แต่แล้วมันก็แผ่วเบาฟุ้งหายไปกับสายลม ไม่มีแม้ใครสักคนตอบสนองต่อเสียงนั้น

ไม่กี่นาทีที่ความเงียบสงบส่งเสียงดังจนน่ารำคาญณรวิตรพบว่าสถานที่ที่เขาอยู่น่าจะห่างไกลจากประเทศไทยบ้านเกิดเมืองนอนอยู่หลายช่วงผืนน้ำ ชายหนุ่มขยับตัวแล้วดันร่างกายขึ้นสู่ท่านั่งหลังเหยียดตรงกว่าเดิม มือขวาของเขาสัมผัสกับฝ่ามือเล็กเรียวที่หยาบแห้งเล็กน้อยแต่ก็ยังคงความอ่อนโยนของผิวสตรีต่างชาติที่ค่อนข้างมีอายุ “เธอต้องเคยสวยแน่ๆ เมื่อครั้งยังเป็นสาวสะพรั่ง” ณรวิตรอดคิดไม่ได้ แม้ในขณะนี้มิน่าใช่กาลเทศะที่จะมาชื่นชมความงามของสตรีเท่าใดนัก

“ขอโทษครับ...” ณรวิตรเริ่มต้นบทสนทนากับสตรีมีอายุแปลกหน้า และแปลกถิ่น ตั้งใจว่าหลังจากกล่าวคำขอโทษแล้วจะต้องถามให้คลายความสงสัยเสียทีว่าตนกำลังเอาหลังพิงอยู่กับสถานที่ใดและเขตดินแดนของประเทศใดกันแน่ แต่เปล่าเลยหญิงกลางคนยังคงนั่งเฉยเหมือนไม่ได้รับสัมผัสจากณรวิตรทั้งๆ ที่ก็ทอดสายตามาทางเขา ชายหนุ่มขนลุกและตกลงสู่ห้วงแห่งความวิตกอาจจะตั้งแต่ที่เขาหลุดอุทานเสียงดังออกมาเมื่อก่อนหน้านี้ และปราศจากการตอบสนองต่อผู้ใด “เธออาจจะหูหนวกก็ได้!” เขาคิดและทดลองเอื้อมมือไปสะกิดที่หลังมือของเธออีกครั้ง คราวนี้เธอหันมามองทางเขาด้วยสายตาเป็นประกาย...

หากสังเกตดีๆ แล้วณรวิตรกำลังอยู่ในอาคารสนามบิน ที่ผู้คนเกือบจะทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นฝรั่งผิวขาว มันอาจจะเป็นสนามบินแห่งใดแห่งหนึ่งในประเทศไทย หรือไม่ก็ในโลก ข้อความที่ปรากฏอยู่ตามป้ายต่างๆ นอกเหนือจากภาษาอังกฤษแล้วยังมีตัวอักษรของภาษาอะไรอีกสักอย่างที่คลับคล้ายคลับคลากำกับอยู่ทั้งๆ ที่เป็นภาษาที่แปลกตาแต่ชายหนุ่มก็สามารถเข้าใจได้อย่างน่าประหลาด

เธออมยิ้มและพยายามเรียกร้องความสนใจจากใคร? เขาหรือ? ชายหนุ่มคิดเมื่อเห็นหญิงสาวทำทีส่งสายตามาให้ เขาขยับทำท่าจะส่งรอยยิ้มตอบด้วยความแปลกใจแต่ก็ต้องชะงัก และหันไปมองข้างหลังเมื่อพบว่าสายตาของเธอข้ามหัวไหล่เขาไปอย่างกับเขาเป็นเพียงอากาศธาตุแล้วปะทะลูบไล้กับใบหน้าของชายวัยกลางคนแต่งกายภูมิฐานบนม้านั่งฝั่งตรงข้าม ชั่วอึดใจที่ชายวัยกลางคนส่งรอยยิ้มตอบกลับมาและผงกศีรษะเล็กน้อย เธอลุกขึ้นเดินเฉียดร่างณรวิตรไปหาชายคนนั้น ใกล้จนเกือบชน

“เราเคยรู้จักกันในกรุงปรากไม่ใช่หรือคะ” เธอพูดขึ้นด้วยภาษาเชคกับชายวัยกลางคน น่าแปลกทีเดียวที่ณรวิตรสามารถเข้าใจได้ทันทีโดยไม่ต้องแปล “กรุงปรากหรือ?” ชายหนุ่มกระสับกระส่าย เขาเพียงนอนหลับไปบนที่นอนของตัวเองในบ้านแถวๆ วงเวียนใหญ่ และตื่นขึ้นมาที่นี่! ที่ที่คนสองคนคุยกันด้วยภาษาเชคและเขาก็เข้าใจเสียด้วย!
“ยังจำดิฉันได้หรือเปล่า?”
“จำได้สิ”
“ฉันจำคุณได้ทันที คุณไม่เปลี่ยนเลย”
“โอ้โฮ นั่นคงเกินความจริงไปหน่อย”
“ไม่หรอกค่ะ ไม่เลย คุณยังดูเหมือนเดิม คุณพระช่วย มันนานมากเหลือเกิน” เธอพูดกลั้วหัวเราะ “ฉันซาบซึ้งจริงๆ ที่คุณยังอุตส่าห์จำฉันได้!” แล้วเธอก็กล่าวถามต่อ “คุณอยู่ที่โน้นตลอดเลยหรือคะ?”
“เปล่า” ชายคนนั้นตอบ
“คุณลี้ภัย?”
“ใช่”
“แล้วคุณไปอยู่ที่ไหน? ในฝรั่งเศสหรือคะ?”
“เปล่า บังเอิญที่ผมมาต่อเครื่องที่ปารีส ผมอยู่ในเดนมาร์ก แล้วคุณล่ะ?”
“อยู่ที่นี่ค่ะ ในปารีส...”
“ปารีส!” ณรวิตรเผลออุทานอีกครั้ง โดยคราวนี้เขาไม่สนใจอีกแล้วว่าจะดังเกินไปหรือไม่ในเมื่อก็ไม่ได้มีใครเห็นว่าเขาอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว หรือนี่แค่เพียงความฝัน? หรือความตาย? บางทีสองสิ่งนี้อาจจะแยกออกจากกันได้ไม่เด็ดขาดนักว่าในขณะที่เกิดภาพที่ไม่คุ้นตาขึ้นเขาจะกำลังอยู่ในภวังค์แห่งความฝัน? หรือโลกใหม่แห่งความตาย?

หญิงมีอายุที่อยู่ตรงหน้าของเขาพูดคุยกับชายคนนั้นอีกชั่วครู่ก่อนจะพากันเดินขึ้นเครื่องบินไปยังปราก ตามที่เขาและเธอพูดคุยและนัดหมายกัน การโหยหาแผ่นดินเกิดหลังจากต้องลี้ภัยไปอยู่ในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่บ้านที่อบอุ่น ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเธอและเขาอาจจะเคยสะดุ้งตื่นกลางดึกของค่ำคืน หรือในเช้าธรรมดาอย่างมีความสุข แต่หลังจากบิดขี้เกียจจนโลกแห่งความจริงเลิกเหลื่อมล้ำกับโลกแห่งความฝันแล้วกลับพบว่าทุกสิ่งทุกอย่างกลับไม่ใช่อะไรที่คุ้นเคย ถนนหน้าบ้านไม่ใช่ถนนเส้นเดิมที่เคยเดินแม้จะคล้ายคลึง
โทรทัศน์ที่เปิดกรอกหูกลับเป็นใบหน้าและถ้อยคำของชาวต่างชาติ อาหารการกินนะหรือ? ที่เคยเอร็ดอร่อยกับรสชาติที่คุ้นลิ้น และสนุกกับการบริโภคกลับแปลกรสจนอยากอาเจียน แล้วเมื่อคราวมีปัญหาที่แก้ไขเพียงคนเดียวไม่ได้ คนที่อยากจะคว้าตัวเอามาซุกกอดในอ้อมแขนอันอบอุ่นที่สุดแล้วก็กลับอยู่ห่างไกลเสียจนไม่ได้ยินเสียงร่ำไห้ของกันและกัน ยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องจากบ้านไปไกลแสนไกลด้วยป้ายแขวนคอว่าผู้ลี้ภัยทางการเมือง และความขัดแย้งในประเทศตนเองอย่างคนคู่นี้ที่แค่แอบคิดว่าจะได้กลับไปสูดเอาอากาศของบ้านเกิดให้ชุ่มปอดก็คงยาก ความโหดร้ายของการคิดถึงใครสักคนโดยไม่มีโอกาสที่จะได้พบกันอีกคงช่างทรมาณลึกลงไปในหัวใจ เหงา สงสัย และแปลกแยก... เช่นเดียวกับณรวิตรรู้สึกในขณะนี้ในขณะนี้

ฉากการกลับไปเยือนบ้านเกิดของสองผู้ลี้ภัยชาวเชคที่ได้พบปะพูดคุยกันบนผืนดินในสวนหลังบ้านของคนอื่นอย่างกรุงปารีส หลังเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์และผู้ต่อต้านเมื่อมีการเข้ามารุกรานของสหภาพโซเวียต จนถึงคราวล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์หลังสิ้นสุดสงครามเย็นระหว่างสองขั้วมหาอำนาจคือพี่ใหญ่อเมริกา และพี่ใหญ่สหภาพโซเวียต (ที่สุดท้ายก็ต้องล่มสลายแพ้พ่ายให้กับพี่ใหญ่บ้าสงครามตลอดกาล) นี้คุ้นตาณรวิตรมากขึ้นทุกทีๆ หลังจากคุมสติได้แล้วว่าในขณะนี้ตนได้พลัดพลากจากเตียงนอนนุ่มอันเป็นที่รักมาห่างไกลอย่างไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ อาจมีใครวางยาสลบแล้วนำเขามาทิ้งไว้ที่อาคารสนามบินแห่งนี้? หรือเขาอาจหัวใจวายตายแล้ววิญญาณล่องลอยมาเพราะก่อนตายกินขนมปังครัวซองอยู่? อาจมีมนุษย์ต่างดาวลักพาตัวเขาไปทดลองแล้วนำมาปล่อยคืนผิดตำแหน่ง? (อาจสลับกับมิลาน คุนเดอร่า (Milan Kundera) ผู้เขียนนิยายชาวเชคที่ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ฝรั่งเศส หนึ่งในหลายผลงานชื่อก้องโลกที่ผ่านมุมมองจากประสบการณ์จริง และมันสมองจริงๆ (ไม่ใช่เล่น!) ของเขาอย่าง “ความเขลา (IGNORANCE)” ที่ตั้งคำถามต่อการโหยหาแผ่นดินถิ่นเกิดของผู้ลี้ภัยที่จากบ้านมานานอย่างน่าสนใจ (และอาจเพราะด้วยประสบการณ์ตรงของตาลุงมิลานเอง) ชายหนุ่มจำได้ว่าหนังสือเล่มนี้ติดอยู่ 1,001 เล่มที่ควรอ่านก่อนตายของ Dr. Peter Boxall และก็ไม่น่าผิดหวังที่ได้มีโอกาสอ่านก่อนตายถ้าตอนนี้ชายหนุ่มยังหายใจอยู่โดยไม่หลอกตัวเอง) หรือท้ายที่สุดเขาอาจจะเดินทางมาเองจริงๆ แล้วแค่ตื่นครึ่งฝันครึ่งขณะรอขึ้นเครื่องกลับบ้าน? ไม่น่าแปลกถ้าตัวเอกของนิยายเรื่องนี้อาจเปลี่ยนแปลงเป็นใครก็ได้ ที่ก็ไม่น่าจะแตกต่างหากต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกันกับอีเรน่า และโจเซฟสองตัวละครสำคัญในนิยายของคุนเดอร่าที่ขับเคลื่อนให้เกิดเรื่องราวอันน่าสนใจ และน่าตะลึงเพริศแพร้วอันเป็นภาพซ้อนกับหญิงและชายวัยกลางคนที่ชายหนุ่มได้พบเห็นเมื่อครู่ที่ผ่านมานี้

นับตั้งแต่ที่อีเรน่าบังเอิญพบกับคนที่เธอเคยประทับใจอย่างโจเซฟเมื่อสมัยยังอยู่ที่ปราก เป็นการพบกันในวันแรกที่เธอกำลังจะกลับไปเหยียบแผ่นดินเกิดหลังจากที่สามีเสียชีวิตและเธอไม่ต้องการจะกลับไปแตะเท้าที่ปรากอีก นี่อาจเป็นการคาบเกี่ยวระหว่างความรู้สึกของตัวเธอเองที่ดีใจระคนสับสนกับตำแหน่งที่เธอยืน จนทำให้การหวนคืนสู่มาตุภูมิที่ทรมาณความรู้สึกครั้งนี้ (เธอจะกลับไปเพื่อพูดจากับใครในเมื่อจากมาหลายปีแล้ว กลับไปเท้าสะเอวมองเมืองที่เธอคุ้นหน้าแต่ไม่ผูกพัน แต่ในใจลึกๆ มันก็เป็นเมืองที่เธอเกิด และเคยอุ่นใจที่ได้อาศัยอยู่!) ลดความทรมาณลง
“คุณลี้ภัย?” อีเรน่ากล่าวถาม
“ใช่!” โจเซฟตีสีหน้า ปลายคิ้วลดต่ำพร้อมๆ กับไหล่ทั้งสองข้างที่ห่อตัวลง และรอยยิ้มเศร้าๆ ที่ประดับบนใบหน้า

ชายหนุ่มไม่เคยรู้สึกรู้สาอะไรกับการล้มลงของทักษิณ ชินวัตรหลังการทำรัฐประหารจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติจนในขณะนี้ที่มีวูบความคิดพัดเข้ามาในหัวการต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนไม่ว่าเขาจะกระทำกิริยาเยี่ยงอาชญากรสงครามภาคใต้ ยาเสพติด และระบบทุนนิยมอย่างที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ก็ตาม แต่การที่ต้องร่อนเร่เตร็ดเตร่ไปตามประเทศต่างๆ โดยไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้อย่างปลอดภัย ต่อให้ร่ำรวยมหาศาลขนาดไหนก็ไม่สามารถซื้อประเทศไทย และความเป็นไทยทั้งผืนใช้เรือลากไปตั้งเคียงกับเกาะบริติท เวอร์จิ้นเพื่อเอาเท่ได้ “ต่อให้คนเลวที่สุดในสายตาของคนทั้งโลกก็คิดถึงบ้านเป็น”
“คุณลี้ภัย?” นักข่าวกล่าวถาม
“คงใช่!” อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยตีสีหน้า ปลายคิ้วลดต่ำพร้อมๆ กับไหล่ทั้งสองข้างที่ห่อตัวลง และรอยยิ้มเศร้าๆ ที่ประดับบนใบหน้า

ณรวิตรสะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงเอ่ยถึงเที่ยวบินที่มีปลายทางอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิจากเสียงประกาศตามสาย เขาลุกขึ้นคว้ากระเป๋าสะพายใบใหญ่ และหนังสือเล่มที่ใช้ต่างหมอนลุกออกจากที่นั่งแถวยาวเพื่อออกเดินทาง ฝรั่งเศสถึงจะสวยงามอยู่บ้างแต่ก็มีกลิ่นไม่คุ้นอย่างไทยแลนด์ คิดถึงคำว่าสวัสดี คิดถึงอาหารที่มีให้กินตลอด 24 ชั่วโมง คิดถึงร้านกาแฟที่เขาฝากชีวิตนั่งดื่มด่ำคาปูชิโน่เย็นทุกเย็น หรือร้อนในบางเย็น คิดถึงงานแสดงภาพเหมือนในนิทรรศการศิลปะ “Look at me” ของศิลปินฝรั่งเศส “Patricia Tardy” ที่นัดกับเพื่อนและคนรักว่าจะไปดูด้วยกันที่โรทันด้า แกลเลอรี่ ห้องสมุดเนลสันเฮย์ที่ถนนสุรวงศ์ คิดถึงการแสดงดนตรี “Melody of life” นักดนตรีชาวไทย และสุดยอดวงดนตรีขี้เล่นสัญชาติฝรั่งเศสที่มีการผสมผสานเสียงเครื่องดนตรีกับเสียงสังเคราะห์ในท่วงทำนองรื่นหูที่ณรวิตรชื่นชอบอย่าง “Tahiti 80” ที่เซลทรัลเวิลด์ช่วงเดือนร้อนๆ อย่างเมษายน (เมษายน 2550) “อะไรๆ ก็ฝรั่งเศส!” เขาเองก็อดแปลกใจไม่ได้ กลับถึงบ้านคราวนี้เขาว่าจะหยิบหนังสือเล่มนี้กลับมาอ่านอีกสักรอบและจะลองให้คนรักยืมไปอ่านด้วย
“คุณลี้ภัย?” เจ้าหน้าที่กล่าวถาม
ณรวิชอมยิ้ม ไม่มีคำตอบใดเล็ดลอดไรฟัน กดสายตาตัวเองลงปิดสนิทแล้ววิ่งผ่านประตูสุดท้ายของสนามบิน Paris De Gaulle.....

2 comments:

Anonymous said...

อื้มม เขียนดีนี่ เอาเรื่องจริง(จากนวนิยาย)มาผสมกับเรื่องจริง(!?)ของณรวิตรได้เนียนดี อยากอ่าน "ความเขลา" ขึ้นมาเลย

Anonymous said...

เอามายืมอ่านบ้างดิ่