15 June 2009

-: โปรดออกเสียงเป็นภาษาไทย :-

Drawing by Audrey Kawasaki
“สิ่งที่ตามมาจากการเร่งพัฒนาอารยธรรมของประเทศไทยให้เท่าทัน อาจทำให้วันนี้ผมมานั่งอยู่ตรงนี้ นั่งมองดูโลกที่ผมไม่รู้จักพาผมหมุนไปตามวงจรที่ผมไม่รู้จัก ไม่ได้สนุกไปกว่าการนั่งม้าหมุน... อยากลงจากเครื่องเล่นแต่ก็รบกวนคนทั้งหมดแค่เพียงให้ม้าหมุนหยุดจอดปล่อยผมลง”


“If you talk to a man in a language he understands, that goes to his head. If you talk to him in his language, that goes to his heart.”
เนลสัน แมนเดลลา (เกิดเมื่อพ.ศ. 2461, ประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของอัฟริกาใต้พ.ศ. 2537, ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพพ.ศ. 2536)

เวลาใกล้ห้าโมงเย็นแล้วขณะที่รอคอยให้หยาดฝนโปรยปรายลงมาอย่างทุกวัน ผมนั่งมองดูคนอื่นเดินพลุกพล่านและเคลื่อนไหวผ่านไปมา เมฆที่ลอยอยู่ข้างบนหม่นครึ้มจนคาดเดาสีได้ลำบากแต่ก็ดูตัดกับสีฟ้าสดของท้องฟ้ายามเย็นที่ยังคงสะท้อนกับแสงอาทิตย์ที่เหลือค้างอยู่ ความมืดมัวบนฉากแห่งความสดใสตัดขาดโลกของผมออกจากผู้อื่นชั่วขณะ ตอนนี้ความคิดในหัวกำลังวิ่งไปด้วยความเร็วพอๆ กับรถไฟฟ้าที่ผมโดยสารอยู่ และยังไม่มีท่าทีจะเข้าจอดเทียบสถานีไหน

ผมหันกลับเข้ามาดูในห้องโดยสารโอ่โถงแต่ผู้คนยืนเบียดกันอย่างคับแคบ ใกล้ชิดแทบหายใจรดต้นคอกันและกันแต่ปราศจากการปฏิสัมพันธ์ใดๆ คนเราพูดกันด้วยภาษาอะไร? หากเราไม่ได้เปล่งเสียงหรือส่งสัญญาณอะไรบางอย่างถึงกัน แต่ละคนยืนอยู่ในพื้นที่ส่วนรวมอย่างส่วนตัว เด็กผู้ชายกลุ่มใหญ่หัวเราะรุ่มร่ามอยู่ข้างพี่ชายที่ยืนหลับ น้องสาวคุยโทรศัพท์มือถือยืนหันหลังเกือบชนกับพระสงฆ์ที่ก็กำลังพูดโทรศัพท์จนเหมือนทั้งสองคุยกันเอง ผู้หญิงสวมเสื้อสีเหลือง ที่ยืนประจันหน้ากับผู้ชายที่สวมเสื้อสีน้ำตาล ต่างฝ่ายต่างแปลกหน้าและพยายามหลบเลี่ยงสายตาที่จำเป็นต้องจ้องจับกัน เสียงพูดของคนนับร้อยบนรถไฟฟ้ากลับเหลือเพียงเสียงเดียว... เสียงของความเงียบงัน

ทำไมบางครั้งแม้คนที่พูดภาษาเดียวกันแท้ๆ กลับไม่เข้าใจกันและกัน...

ทุกคนรู้ดีว่าภาษาถือเป็นตัวกลางสำคัญในการสื่อสารระหว่างคนสองคนขึ้นไป รู้ดียิ่งขึ้นไปอีกว่าประเทศไทยที่เราร่วมอยู่อาศัยหลับนอนนี้ มีภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติของตัวเอง และธรรมดาของวัฒนธรรม ส่วนของภาษาก็ไม่สามารถหนีพ้นจากการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนับวันก็ยิ่งรวดเร็วขึ้นจนน่าใจหาย

เหตุผลสำคัญอาจเป็นเพราะการมองโลกด้วยสายตาของชาวตะวันตก จากโครงสร้างของภาษาที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ก็กลายไปเป็นการใช้รูปแบบสำนวนอย่างภาษาอังกฤษเข้ามาแทนที่ ถึงแม้จะเถียงได้ยากว่าโครงสร้างของภาษาอังกฤษนั้นแข็งแรงและสวยงามกว่าก็ตาม รวมไปถึงเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งให้สังคมไทยเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเร็วขึ้น เร็วจนทุกสิ่งทุกอย่างบนผืนแผ่นดินต้องเร่งรีบตามไปด้วย ตื่นเร็ว ทำงานเร็ว ร่ำรวยเร็ว เจ็บป่วยเร็ว แก่เร็ว ตายเร็ว ก็เกิดเร็ว... ภาษาไทยจึงต้องเผชิญหน้ากับการกระทบกระทั่งของปัจจัยเหล่านี้อยู่ไม่วางวาย

สายตาของโลกซีกตะวันตกคือการมองทุกอย่างที่พัฒนาทางด้านอารยธรรมว่างดงาม และสบายตามากกว่าการพัฒนาด้านวัฒนธรรม รื้อชิ้นส่วนของสังคมออกเป็นชิ้นเล็กๆ ในระดับปัจเจก ขณะที่สายตาของโลกซีกตะวันออกถอยหลังออกมาแล้วมองโลกทั้งใบเป็นเพียงโลกทั้งใบ... หรือการมองโลกในระดับองค์รวม...

นับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อคราวที่ชาติตะวันตกเรืองอำนาจขึ้นเหนือเขตแคว้นอื่นๆ ทั่วโลกเนื่องจากโลกแห่งเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ดูเหมือนจะตอบคำถามให้กับมนุษย์ได้ละเอียดชัดแจ้งกว่าพระคัมภีร์ของศาสนาใดๆ กระแสอารยธรรมที่พัฒนาขึ้นมาพร้อมกับวัตถุเปลี่ยนแปลงตำราเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย จนเกิดเป็นลัทธิทุนนิยมที่แพร่กระจายอยู่ในปัจจุบัน การใช้ชีวิตเพื่อตอบโจทย์เพียงแค่ว่าทำอย่างไรให้ได้กำไรมากที่สุด ในขณะที่ใช้ทุนน้อยที่สุด น่ากลัว แต่ก็ฝืนตัวไม่ถนัด...

เวลาผ่านไปครู่ใหญ่ผู้คนบนรถไฟฟ้ายังอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองเช่นเดิม...

จนเมื่อมหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) เป็นคนเอเชียร่วมสมัยคนแรกที่ชี้ให้เห็นอันตรายของอารยธรรมตะวันตก ไม่เพียงแต่โดยความคิดและคำพูดเท่านั้น ยังได้ประพฤติปฏิบัติหลักอหิงสธรรมและสัตยาเคราะห์จนสั่นสะเทือนไปทั่วชมพูทวีป และทั่วทั้งโลกจนเอินสท์ ชูมากเกอร์ (Ernst Friedrich Schumacher) นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันมองเห็น และตระหนักถึงความสำคัญของอารยธรรมตะวันออก และเห็นว่าชาติตะวันตกสมควรต้องมาเรียนรู้ และนำไปประยุกต์ใช้ก่อนที่จะนำพาโลกทั้งโลกไปสู่หายนะ

ในที่สุดอารยธรรมตะวันตกก็ฟาดงวงฟาดงาเข้ามาถึงประเทศไทย และเราก็ยินดีค้อมหัวยอมรับ สิ่งที่ตามมาจากการเร่งพัฒนาอารยธรรมของประเทศไทยให้เท่าทัน อาจทำให้วันนี้ผมมานั่งอยู่ตรงนี้ นั่งมองดูโลกที่ผมไม่รู้จักพาผมหมุนไปตามวงจรที่ผมไม่รู้จัก ไม่ได้สนุกไปกว่าการนั่งม้าหมุน... อยากลงจากเครื่องเล่นแต่ก็รบกวนคนทั้งหมดแค่เพียงให้ม้าหมุนหยุดจอดปล่อยผมลง รถไฟฟ้าเข้าจอดเทียบสถานีปลายทางแล้ว ผมเหลียวไปมองดูผู้หญิงในเสื้อสีเหลืองอมยิ้มอ่อนโยนเมื่อผู้ชายในเสื้อสีน้ำตาลกล่าวคำขอโทษหลังจากถูกผู้ร่วมการเดินทางคนอื่นเบียดผลักทำให้ร่างกายของทั้งสองสัมผัสกัน “คนเยอะจังเลยนะครับวันนี้” ชายหนุ่มยิ้มเขินแล้วกล่าวกับหญิงแปลกหน้า

ผู้หญิงเสื้อเหลืองกางร่มสีน้ำตาลในมือขึ้นบังเม็ดฝน ผู้ชายเสื้อสีน้ำตาลกระชับร่มสีเหลืองไว้ในมือ ทั้งสองเดินลงจากสถานีแล้วพูดคุยกันตลอดทางอย่างออกรสจนทำให้ผมอดอมยิ้มไม่ได้ ไม่ว่าทั้งสองจะใช้ภาษาอะไรคุยกัน ไม่ว่าภาษาไทยจะถูกแรงใดๆ โบยตีให้ชอกช้ำจนบิดเบี้ยวผิดรูปผิดร่าง ตามปรกติของภาษาที่ยังไม่ตาย ฝืนดึงรั้งไปก็เหนื่อย แต่จะปล่อยให้ถูกฉุดลากไปข้างหน้าอย่างไม่รู้ที่สิ้นสุดก็อันตราย

โชคดีที่เรายังมีวันภาษาไทยแห่งชาติให้คิดถึงในวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี (หากใครหลายคนยังไม่รู้) อย่างน้อยในวันนี้ผมก็เห็นรอยยิ้มที่ปรากฏขึ้นท่ามกลางม้าหมุนที่เหวี่ยงแรง แค่เพียงคนทั้งสองเริ่มต้นพูดคุยกัน...

หกโมงเย็นแล้วเสียงเพลงชาติจากร้านค้าใกล้ๆ ดังขึ้นทุกคนหยุดนิ่งยืนตรงเพื่อรำลึกถึงเอกลักษณ์ไทยที่น่าภูมิใจ จังหวะนั้นผมก้าวขึ้นรถเมล์ไปครึ่งตัวแล้วไม่สามารถหยุดทำความเคารพต่อสิ่งใดๆ ได้อีก หากเลือดรักชาติของผมพลุ่งพล่านขึ้นมาในวินาทีนั้นคงถูกรถเมล์กระชากตัวรถให้ผมหล่นลงมาภูมิใจในความเป็นไทยต่อกับพื้นถนน เสียงภาษาไทยที่ถูกประพันธ์ขึ้นอย่างวิจิตรบรรจงประสานรับกับท่วงทำนองอย่างไพเราะ น่าภูมิใจที่ประเทศของเรามีภาษาเป็นของตัวเอง

ทิ้งช่วงไม่เกิน 2 ท่อนเพลงชาติก็หยุดเสียงลง เจ้าของร้านค้าดึงปลั๊กวิทยุออก “ไอ้บ้านี่! คนอื่นเขาเคารพธงชาติอยู่ เลยไม่ต้องรู้กันพอดีว่าเพลงจะจบเมื่อไร” ภรรยาของชายผู้ทำลายวัฒนธรรมของชาติเสียในเสี้ยววินาทีบ่นเสียงดัง เจ้าของวิทยุยิ้มแหย๋แล้วเดินไม่รู้ไม่ชี้ไปด้านหลังของตัวร้าน ทุกคนในบริเวณป้ายรถเมล์ลุกลี้ลุกลนมองหน้ากันเลิกลั่กคาดเดาไม่ถูกว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป ภาพสุดท้ายก่อนรถเมล์ที่ผมโดยสารจะเคลื่อนตัวออกไปคือหลายคนออกเดินและทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผู้หญิงเสื้อสีเหลืองถือร่มสีน้ำตาลกับผู้ชายเสื้อสีน้ำตาลถือร่มสีเหลืองแอบป้องปากหัวเราะกันคิกคัก จนผมเผลอหัวเราะตามพวกเขา ฝนตกปรอยๆ พัดลมเย็นสดชื่นโชยเข้ามาปะทะร่างกาย ผมนึกชอบประเทศที่ผมอยู่

เผยแพร่ครั้งแรกที่ - คอลัมน์เหตุผลรองสุดท้ายของการมีชีวิตฯ นิตยสารออนไลน์หมดปัญญา ฉบับที่ 1 (สิงหาคม 2550)

No comments: