“I wake up in the morning
with a dream in my eyes.”
- Allen Ginsberg (1926 - 1997, กวีและฮิปปี้ชาวอเมริกัน)
- Allen Ginsberg (1926 - 1997, กวีและฮิปปี้ชาวอเมริกัน)
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในค่ำคืนหนึ่ง หลังจากที่ผมปล่อยตัวเองให้ดิ่งลึกสู่การหลับไหลและท่องเที่ยวไปในโลกแห่งความฝัน ก่อนหน้าการนอนหลับผมยังรู้สึกเป็นปรกติดีทุกอย่าง ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่เป็นแผลหรือบอบช้ำ แต่อาจเพราะความเครียด ระบบการย่อยอาหารที่ไม่สมบูรณ์ หรือเหตุผลอื่นๆ หลังจากที่โลกแห่งความฝันดีๆ ก่อตัวและดำเนินผ่านไป ชั่วครู่ใหญ่ภาพในจินตนาการของผมก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางร้ายกาจ
ตี 1 : บางบริบทในภาพฝัน
ผมฝันว่ามีชายคนหนึ่งเดินตรงเข้ามาพร้อมมีดปลายแหลมด้ามยาวในมือ เขาปรี่เข้ามาด้วยใบหน้าถมึงทึง เงื้อมีดขึ้นสูงแล้วปักลงบนช่วงอกของผมสุดแรง ทันใดนั้นผมก็สะดุ้งเฮือกตื่นขึ้น รุนแรงจนต้องยกมือคลำหัวใจที่ยังเต้นไม่เป็นจังหวะด้วยหวังว่ามันยังคงนึกครึ้มอกครึ้มใจเคลื่อนไหวอยู่โดยไม่นึกท้อแท้ต่อภาระและหน้าที่ซ้ำซาก เสียงหวีดร้องของตัวเองจากความฝันยังคงดังสลับกับเสียงหายใจหอบจากความจริง จนเมื่อสติกลับมาสมบูรณ์อีกครั้งผมก็ต้องพบกับเรื่องที่น่าแปลกใจที่สุดในชีวิต... ผมรู้สึกเจ็บปวดบริเวณบาดแผลที่เกิดขึ้นในฝันอย่างรุนแรง!
ความฝัน (Dream) ทำอะไรกับเราได้มากมายขนาดนี้เชียวหรือ? แค่เพียงภาพในจินตนาการแต่กลับสร้างผลกระทบให้แก่โลกยามตื่นได้จริงๆ? ถ้าเช่นนั้นความร่ำรวย พละกำลัง แม้แต่การบินได้ในโลกแห่งความฝันก็อาจกลายเป็นจริงได้ไม่ยากเกินไปใช่ไหม?
ตี 2 : ที่มาที่ไปของความฝัน
ผมย้อนคิดไปถึงบทความเรื่อง New Trends in Dream Brain Research ที่ได้มีโอกาสอ่านก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วัน บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นโดยริชาร์ด วิลเคอร์สัน (Richard Catlett Wilkerson) บรรณาธิการของนิตยสารออนไลน์ The Internet Dream E-zine และผู้อำนวยการของ DreamGate หรือศูนย์ความรู้ด้านความฝันซึ่งเผยแพร่อยู่บนไซเบอร์สเปซ บทความชี้ให้เห็นถึงวิธีการทำงานของสมองในขณะที่กำลังหลับฝัน ข้อสมมุติฐานต่างๆ ระยะในการนอนหลับ จนกระทั่งผลสรุปที่แปลผลออกมาเป็นบทบันทึกทางวิทยาศาสตร์ จนช่วยตอบคำถามสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงพร่ำเถียงกันอยู่ทุกวันนี้ ว่าความฝันคืออะไรกัน? แล้วเราจะฝันไปทำไม?
หลักฐานย้อนหลังไปในยุคของอาร์เธมิโดรุส อีฟีซิอุส (Artemidorus Ephesius) หมอเกี่ยวกับความฝัน (Dream Doctor) ที่มีผู้คนนับถือมากที่สุดในช่วง 100-200 ปีก่อนคริสตกาล เขาเคยประกาศว่าความฝันต่างๆ เป็นเพียงประสบการณ์และการเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจของแต่ละคน ไม่มีความหมายอะไรมากกว่านั้น เขาหักล้างความเชื่อของผู้คนในยุคนั้นที่พร่ำบอกว่าความฝันเป็นความลับของพระเจ้าที่ส่งมาถึงเรา จนกลายเป็นข้อถกเถียงเรื่อยมา กระทั่ง 2,000 ปีให้หลัง ในปี 1899 หนังสือเรื่อง The Interpretation of Dreams ซึ่งเป็นผลงานอันโด่งดังของซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ก็ถูกตีพิมพ์ออกมาสมทบ โดยฟรอยด์เชื่อว่าความฝันหรือภาพหลอนในตอนกลางคืนของคนเรา เกิดมาจากความปรารถนาของจิตใต้สำนึกซึ่งปรากฏออกมาทางด้านหลังม่านกั้นของการหลับ แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นแค่เพียงทฤษฎีที่แม้แต่ลูกศิษย์คนโปรดของเขาอย่างคาร์ล จุง (Carl G. Jung) ก็ไม่ได้เห็นด้วยมากนัก เนื่องจากฟรอยด์นำความฝันไปผูกติดกับจิตใต้สำนึกทางกามารมณ์เท่านั้น
โดยคาร์ล จุงเป็นคนแรกๆ ที่นำความฝันไปผูกเข้ากับเรื่องของจิตจักรวาล หรือมหาปัญญาสากลของจักรวาล (Intelligent Universe) ที่เชื่อกันว่าทุกๆ องค์ความรู้ ทุกๆ ความคิดและความรู้สึกของมนุษย์จะลอยขึ้นไปเก็บสะสมไว้ในจักรวาลอันเวิ้งว้าง และความฝันก็เป็นประตูเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ในส่วนลึกสุดของจิตไร้สำนึก และประตูนี้เองที่จะใช้เปิดไปสู่จักรวาลยามค่ำคืนที่มืดมิด หรือสู่แหล่งจิตไร้สำนึกของจักรวาลตลอดไปไม่ว่าจักรวาลจะขยายตัวไปถึงไหน (Carl Jung : Memories, Dreams, Reflection; 1963)
ตี 3 : ความฝันในสายตาของนักวิทยาศาสตร์
ในช่วงปี 1950 นาธาเนียล คลีธแมน (Nathaneil Kleitman) แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก้ (University of Chicago) และนักเรียนผู้ช่วยของเขาชื่อยูจีน อาเซรินสกี้ (Eugene Aserinsky) เริ่มทำการบันทึกการเคลื่อนไหวของดวงตาผู้ถูกทดลองที่กำลังนอนหลับในห้องทดลองการหลับ โดยคลีธแมนหวังว่าจะพบตัวบ่งชี้ว่าเมื่อไรการเคลื่อนไหวเล็กน้อยของดวงตาจะเกิดขึ้น จนกระทั่งในปี 1953 ทั้งสองพบว่า ระหว่างที่หลับ ดวงตาจะมีการเคลื่อนไหวประมาณ 6 ช่วง ซึ่งแต่ละช่วงจะใช้เวลานานประมาณ 20 นาที นักวิทยาศาสตร์จึงตั้งชื่อช่วงเวลาที่ดวงตามีการเคลื่อนไหวว่า Rapid Eyes Movement (REM)
นักประสาทวิทยาได้ค้นพบว่าในช่วงที่ดวงตามีการเคลื่อนไหวหรือช่วง REM sleep นี้ เป็นช่วงที่คลื่นสมองของผู้หลับมีความถี่สูงขึ้นและกล้ามเนื้อก็เกิดการคลายตัวอย่างเห็นได้ชัด จึงกลายเป็นสมมุติฐานที่ว่าช่วง REM Sleep คือช่วงที่คนเรากำลังเกิดความฝัน และช่วงเวลาหลับช่วงอื่น (non-REM) ก็เป็นช่วงที่ไม่เกิดความฝันขึ้น
หลังจากการโต้เถียงอย่างรุนแรงระหว่างนักวิชาการในศาสตร์ต่างๆ ถึงปรากฏการณ์ความฝัน อีกประเด็นหนึ่งที่นักวิจัยได้มีการทดลองก็คือเรื่องสีของความฝัน โดยเคยมีรายงานผลการศึกษาจากนิตยสารวิทยาศาสตร์ New Scientist ที่ต่อยอดมาจากประเด็นสมมุติฐานของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยดันดี (The University of Dundee) ว่า ความฝันของคนเราจะเป็นได้ทั้งสีและขาวดำขึ้นอยู่กับความถี่ในการรับรู้เมื่อครั้งที่ตื่น เช่นคนที่มักจะต้องจดจ้องอยู่แต่กับภาพขาวดำ ดูทีวีขาวดำ ใช้หน้าจอคอมพิวเตอร์ขาวดำอยู่บ่อยครั้ง ก็จะส่งอิทธิพลมาทำให้ความฝันกลายเป็นสีขาวดำ และในอีกทางหนึ่งก็เช่นเดียวกัน
นอกจากนั้นผู้ร่วมค้นพบโครงสร้างโมเลกุลของกรดดีออกซีไรโบนิวคลิอิกหรือ DNA อย่างฟรานซิส คริก (Francis Crick) แห่งสถาบันศึกษาทางชีววิทยาซอล์ค (Salk Institute for Biological Studies) ก็เคยได้กระโดดมาร่วมการสังฆกรรมในเรื่องความฝัน โดยได้วิจัยร่วมกับเกรม มิชิสัน (Graeme Michison) นักชีวโมเลกุลจากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ (University of Cambridge) พวกเขาได้ร่วมกันยืนยันว่า ‘เราฝันเพื่อลืม’ เพราะสมองจะใช้ความเงียบในช่วงที่เรากำลังหลับ ให้ระบบต่างๆ ปล่อยข้อมูลที่ไม่มีประโยชน์ออกมา ภาพที่ไม่จำเป็นและยุ่งเหยิง ความจำต่างๆ และความสัมพันธ์ต่างๆ จะเกิดขึ้นในความฝัน ตรวจสอบคุณค่า และหลังจากนั้นจึงลบออกจากสมองส่วน Cortex (Ole Vedfelt; The Dimensions of Dreams: The Nature, Function, and Interpretation of Dreams; 2002)
จนกระทั่งในปี 1970 เจ. อัลแลน ฮอบสัน (J. Allan Hobson) และโรเบิร์ต แมคคาลี่ย์ (Robert W. McCarley) แห่งโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) ได้ทำการทดลองในเรื่องของ REM Sleep ต่อยอดขึ้นไปอีก พวกเขาได้ข้อสรุปใหม่ที่ล้มล้างสมมติฐานของฟรอยด์โดยทั้งคู่สรุปว่าปรากฏการณ์ทางจิตวิทยา เช่น การเกิดอารมณ์ (Emotionality) ความต้องการที่เกิดจากแรงกระตุ้น หรือจิตใต้สำนึกไม่ได้กระตุ้นให้เกิดความฝันตามที่ฟรอยด์คิด แต่เป็นเพราะการตอบสนองทางชีวเคมีที่เกิดขึ้นในสมองต่างหากที่ทำให้ความฝันปรากฏขึ้นมาในระหว่างค่ำคืนของเรา และสารเคมีก็ไปกระตุ้นให้สมองควบคุมกล้ามเนื้อ จนเกิดการเกร็งหรือคลายตัวอย่างรุนแรง ทำให้ค่ำคืนนี้ผมสะดุ้งตื่นขึ้นมาและยังรู้สึกเจ็บในบริเวณที่เพิ่งจะถูกแทงมาในความฝัน
ตี 4 : ความฝันในสายตาของคนช่างฝัน
การพยายามหาเหตุผลของการแพทย์จากซีกโลกตะวันตกก่อให้เกิดการโต้เถียงกันไปต่างๆ นานา ทฤษฎีที่ยังไม่ได้รับข้อสรุป ผลการทดลอง และสมมุติฐานไร้ประโยชน์มากมายยังถูกซุกอยู่ในห้องทดลองทั่วโลก โดยไม่ได้ให้ความกระจ่างแจ้งที่แท้จริงใดๆ แก่เราเลย แต่ความลับเหล่านี้กลับเป็นมนต์เสน่ห์ที่แสนจะโรแมนติก เมื่อความฝันของผู้คนนับล้านกลายเป็นเรื่องราวเพ้อฝันที่กระตุ้นให้เกิดแรงผลักดันในการดำเนินชีวิตได้อย่างน่าเหลือเชื่อ
ความฝันผลักดันด้วยความคิดและจิตใจ ไม่แปลกที่การพูดคุยกันของขี้เมาน่าสมเพช 2 คนที่กำลังนั่งกินเหล้าอยู่ข้างวินมอเตอร์ไซค์ เปิดเพลงบรรเลงเย็นเยียบ และบรรยากาศรอบกายเป็นใจ จากความฝันลมๆ แล้งๆ อาจถูกกระตุ้นให้ขี้เมา 2 คนมีแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงานศิลปะดีๆ ขึ้นมาสักชิ้นจนทั้งคู่มีชื่อเสียง เงินทอง และความสุขที่แท้จริง แตกต่างจากผู้คนที่เดินไปมาในออฟฟิตหรู ปล่อยตัวเองให้แข็งตายอยู่ในโต๊ะสี่เหลี่ยมทอดทิ้งทุกความฝันไว้กับเงินเดือนสูงลิบ
อัลแบร์ กามูส์ (Albert Camus) นักคิดนักเขียนชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวเอาไว้ว่า มนุษย์จะมีความสุขถ้าอยู่ภายใต้องค์ประกอบ 4 อย่างนั่นคือ ได้อยู่ในที่อากาศโล่งโปร่ง ได้ทำงานสร้างสรรค์ หลุดพ้นจากความทะเยอทะยาน และได้รักใครสักคน ซึ่งถ้ากามูส์ไม่นั่งเทียนสร้างเรื่องนี้ขึ้น เราจะพบได้เลยว่า องค์ประกอบทั้ง 4 ข้อนั้นหาได้ยากยิ่งในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน ที่ผู้คนต่างเร่งรีบเย่อหยิ่งและทะเยอทะยาน นั่งทำงานภายในออฟฟิตอึดอัดคับแคบ งานหลายประเภทที่มิได้เพียงแต่ไม่สร้างสรรค์ แต่ยังแช่แข็งความสร้างสรรค์ให้อยู่ร่วมกับความแปลกแยกอันร้ายกาจในตู้แช่ช่องเดียวกัน และที่สำคัญเราแทบจะไม่มีคนให้รักหรือดูแลความรักที่มีกันได้ไม่ดีนัก เพียงเพราะมัวแต่คิดกังวลอยู่กับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง…
นี่อาจเป็นจุดประสงค์เดียวกันกับ กฏแห่งการดึงดูด (Law of Attraction) ในหนังสือขายดีติดอันดับโลกอย่าง The Secret ของรอนดา เบิร์น (Rhonda Byrne) ที่กล่าวถึงเรื่องราวปาฏิหาริย์ ความมหัศจรรย์ของแรงบันดาลใจ และความฝันที่ส่งผลให้ผู้ที่คิดหวังอย่างไรก็จะได้รับผลอย่างนั้นอยู่เสมอ เหมือนปรัชญาที่สอดแทรกอยู่ใน The Matrix หนังไตรภาคที่เขียนบทขึ้นมาโดยได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์ปรัชญาพุทธสายมหายานของธิเบต ที่พยายามจะสื่อสารกับผู้ชมว่า ความจริงแล้วเราอาจทำอะไรในโลกใบนี้ได้มากกว่าที่เราเข้าใจอีกเยอะ จะงอช้อน จะควบคุมข้าวของให้ลอยล่องสู่ท้องฟ้า กระโดดขึ้นไปบนหลังคาตึกสูง เอี้ยวตัวหลบลูกกระสุนปืน แม้กระทั่งจะเปลี่ยนจากนักคอมพิวเตอร์ไปเป็นมหาบุรุษที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ ผมชื่นชอบไดอะล็อคหลายชิ้นที่ตัวละครพูดขึ้นในหนังเรื่องนี้ เช่นฉากที่พวกเขากำลังซ้อมต่อสู้กันแล้วนีโอเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อยู่ทุกครั้ง มอร์เฟียร์ซกล่าวกับพระเอกของเราว่า "อย่าคิดว่าคุณเอาชนะผมได้.. แค่ให้รู้ว่าคุณทำได้" แล้วก็พูดต่อไปว่า "หยุดพยายามจะต่อยผม แล้วต่อยผมซะที"
บทพูดจากภาพยนตร์ส่งข้อความบางอย่างมาให้คนในยุคแห่งการตื่นรู้และลุ่มรวยนี้ แม้การมุ่งหวังจะไปในทิศทางของความฝันอาจดูบ้าบิ่นและผิดหลักจรรยาบรรณของโลกที่ขับเคลื่อนทุกอย่างด้วยฐานะ เงินทองและชื่อเสียง คนที่ช่างฝันไม่ได้ทำให้โลกหมุนช้าลง คนที่บ้าระบบไม่ได้ทำให้โลกหมุนเร็วขึ้น แต่เพียงเพราะคนเราพยายามทำให้ตัวเองได้มีอะไรทำ นอกเหนือจากการนั่งว่างๆ เหมือนเด็กน้อยช่างฝันที่ไม่รู้จักโต นั่งพูดพร่ำไร้สาระกับเพื่อนในจินตนาการไปวันๆ แต่ความไร้สาระ ไม่ใช่ไม่มีสาระ...
ความไร้สาระของ 2 พี่น้องตระกูลไรท์ (Orville and Wilber Wright) ในสายตาคนในยุคหนึ่ง ก่อให้เกิดยานพาหนะที่บินได้
ความไร้สาระของอัลเบิร์ต ไอน์ไสตน์ (Albert Einstein) พลิกหน้าประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์โลก
ความไร้สาระของดาไลลามะ (Dalai Lama) สร้างความสงบ และสันติภาพ
ความไร้สาระของปาโบล ปิกัสโซ่ (Pablo Picasso) ส่งอิทธิพลอย่างรุนแรงต่องานศิลปะในศตวรรษที่ 20
บางทีความฝันอาจเป็นโลกในอีกมิติหนึ่งที่เราสามารถจะทดลองกระทำอะไรให้เกิดขึ้น แล้วค่อยนำมาต่อยอดปฏิบัติจริงในโลกยามตื่น แค่เพียงตั้งใจที่จะก้าวไปให้ถึงจุดหมายปลายทางอีกฝากหนึ่งของถนนแห่งความฝัน ก่อนที่โลกจะตราหน้าว่าเราเพ้อเจ้อกับชีวิต ความรัก และความฝันมากเกินไป แล้วจับเราอาบน้ำ แต่งตัวใหม่ให้เหมือนชาวบ้าน เอาสีน้ำมาวาดยิ้มที่ข้างแก้ม เอาลิควิดมาลบสมองเราออกไปอีกสักหน่อย แล้วจับโยนเขาใส่กลุ่มคนให้เดินปนๆ เอ๋อๆ กลืนหายเข้าไปในฝูงชน
ตี 5 : หลับฝันหวานอีกครั้ง
ความจริง ความใช่ มักถูกมองด้วยสายตาของคนกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่าตนรู้จริง ในศาสตร์แขนงนั้นๆ แต่ในทางกลับกันความปลอม ความฝัน ก็ใช่ว่าจะกลายเป็นฝ่ายที่ผิดวันยันค่ำอยู่ฝ่ายเดียว เช่นเดียวกับประชาธิปไตย ฝ่ายตรงข้ามย่อมมีหน้าที่ระแวดระวัง ตั้งคำถาม และถ่วงดุลอำนาจให้ความจริงเหล่านั้น จริงและใช่อยู่เสมอ
การมองความฝันด้วยดวงตาคนละคู่ แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อมุมมองได้แตกต่างกันคนละขั้ว คล้ายการที่นักวิทยาศาสตร์ตัดสินใจถอดดาวพลูโตออกจากสมาชิกของระบบสุริยจักรวาล จนเกิดคำแสลงที่แทนความหมายว่าไร้ค่าหรือ ‘Plutoed’ ขึ้นมาในสังคมอเมริกัน มองอย่างง่ายที่สุดคือ ถ้าให้นำโหราจารย์มาตัดสินวิเคราะห์ด้วยเงื่อนไขของศาสตร์นี้ว่าดาวพลูโตยังคงน่าชม และสมควรอยู่ต่อไปในระบบจักรวาลได้ และศาสตร์แห่งโหราเผอิญเป็นศาสตร์ที่คนนิยมนับถือที่สุดในโลก (มีหน่วยงานตั้งอยู่ที่อเมริกาเสียด้วย) ดาวพลูโตก็คงยังไม่กลายเป็นเพียงวลีติดปากของนักภาษาศาสตร์อย่างที่มันเป็นอยู่
ความแปลกประหลาดในความฝันก็จะยังคงเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดต่อไป หากทุกสิ่งทุกอย่างยังถูกตัดสินด้วยกรอบความคิดจากตำราเท่าที่เรามีอยู่ในโลกใบนี้เท่านั้น ผีไม่มีในโลกเพราะวิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ ก็ใช่ว่าผีจะเป็นผีพลาสติกไขลานตัวละสามสิบบาทที่ขายตามตลาดนัดหน้าห้างสรรพสินค้า
ไม่ว่าใครจะคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องของความฝัน แต่ตอนนี้อาการเจ็บปวดที่บริเวณบาดแผลในจินตนาการของผมเลือนหายไปหมดแล้ว ผมล้มตัวลงนอนอีกครั้ง ตั้งใจว่าคราวนี้จะต้องฝันหวานเรื่องยาวให้ได้สักเรื่อง... และที่แน่ๆ ผมจะคอยลุ้นให้ความฝันแสนหวานของผมกลายเป็นความจริง!
เผยแพร่ครั้งแรกที่ - คอลัมน์ Crush Archive นิตยสาร Crush Magazine (ธันวาคม 2551)