24 February 2011

Sister Bliss : The Music is my Radar

“ฉันเคยได้ยินมาว่าสิ่งเหล่านี้คือ Universe of Consciously (จักรวาลแห่งสามัญสำนึก) อย่างเช่นในคลับ หรือในคอนเสิรท์เพลงร็อค มันก็มีดนตรีที่สื่อได้กับทุกๆ คน”

ไม่รู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไร แต่ผมกับกลุ่มเพื่อนๆ รู้สึกตื่นเต้นเป็นพิเศษ ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้รู้ว่าจะเกิดงาน ’Bacardi B-Live Culture One 2009’ ขึ้นอีกครั้งในประเทศไทย จะไม่ตื่นเต้นได้อย่างไรล่ะ เพราะนี่อาจเป็นอีกสัญญาณสำคัญอีกสัญญาณหนึ่งที่ช่วยบอกอะไรกับเราว่า ต่อจากนี้ไป เราไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเครื่องบินสูงลิบเพื่อไปนั่งฟังดนตรีและศิลปินดีๆ ในอีกฝากหนึ่งของโลก เพราะเพียงแค่ขับรถเลยจากชีวิตประจำวันไปไกลกว่าเดิมอีกนิดเดียว ดนตรีดีๆ ก็ยืนอ้าแขน รอมอบกอดอุ่นๆ ให้เราอยู่แล้ว




และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาตื่นเต้นของเราอีกเช่นกัน เพราะเราได้มีโอกาสนัดพบพูดคุยกับ ’Sister Bliss’ หรือ Ayalah Bentovim ศิลปิน, ดีเจสาวสัญชาติอังกฤษ-อิสราเอลหนึ่งในสมาชิกของวงดนตรีชื่อดังที่มีคนโปรดปรานไปทั่วโลกอย่าง Faithless
เรามีนัดให้พบกันในช่วงบ่ายของวันที่เธอจะขึ้นเล่นสดในตอนกลางคืน เราตั้งใจจะถามคำถามมากมายกับเธอ มีอะไรที่ติดใจสงสัยเกี่ยวกับตัวเธอและดนตรีประเภทนี้อีกมากในหัวสมอง จนเมื่อเวลานัดมาถึง ภาพความวุ่นวายก็ก่อตัวขึ้นที่นั่นจนเราแทบจะหลงลืมคำถามไปจนหมดสิ้น มีนักข่าวจากทั้งสื่อเพลงและสื่ออื่นๆ มากมาย รอคิวสัมภาษณ์เธอจนเหลือเวลาให้เราเพียงน้อยนิดจนน่าตื่นเต้น (อีกครั้ง) นี่เราลืมอะไรไปหรือเปล่า? ก็เธอคนที่เรากำลังจะพูดคุยด้วยในครั้งนี้ คือศิลปินชื่อดังที่เคยได้ยืนบนเวทีคอนเสิร์ทระดับโลกมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว!

ทำไมต้องเป็น Sister Bliss
ดีเจทุกคน ตั้งแต่ฉันจำความได้ต้องมีฉายาสำหรับการเล่นสดบนเวที มีจำนวนน้อยมากที่ใช้ชื่อจริงของตัวเอง สำหรับชื่อของฉัน ฉันต้องการที่จะแยกระหว่างความเป็นส่วนตัวกับความเป็นสาธารณะออกจากกัน และ Sister Bliss ก็เป็นชื่อหนึ่งที่ฉันสนใจ และยังสามารถได้ยินได้ภายในคลับที่มีระบบเสียงทรงพลังดังรบกวนอยู่ ไม่เหมือนชื่อจริง! (หัวเราะ)

นอกจากอุปกรณ์ของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แล้ว คุณเล่นเครื่องดนตรีอื่นอีกบ้างไหม?
คีย์บอร์ด เพราะเราสามารถได้เสียงทุกเสียงที่ต้องการได้อยู่แล้วจากเครื่องดนตรีชิ้นนี้ ตั้งแต่เสียงออเครสต้ายันเสียงกลอง และฉันก็เป็นวงดนตรีที่มีฉันเพียงคนเดียว! จะให้ทำอย่างไรได้ล่ะ จริงไหม? ดังนั้นคีย์บอร์ดจึงเป็นเครื่องดนตรีที่มีความสามารถเพียงพอให้กับดนตรีของฉัน

งานดนตรีของคุณมักเกิดขึ้นใน Studio เหรอ? ถ้านั่นไม่ใช่ที่ทำงานเดียวของคุณ? ไอเดียและท่วงทำนองจะเกิดขึ้นในเวลาและสถานที่ใดบ้าง?
จริงๆ แล้วก็ไม่เสมอไป ฉันได้ไอเดียตลอดเวลาที่บ้าน เวลาที่ฉันทำนู้นทำนี่ บางทีฉันจะชอบคิดตอนกลางคืนเวลาที่อยู่คนเดียวก่อนเข้านอนหรือไม่ก็ตอนตื่นนอนตอนเช้า แต่ก็นะ ตอนนี้ฉันมีลูกแล้ว เวลาในการทำดนตรีที่ดีที่สุดมันก็คงหนีไม่พ้นในสตูดิโอ เพราะฉันจะได้มีสมาธิและทุ่มเทได้มากกว่า



อะไรเป็นแรงบันดาลใจสำคัญสำหรับการผลิตผลงาน?
อะไรก็ได้ การมีชีวิต ผู้คน บทสนทนามั้ง (หัวเราะ) ฉันชอบดนตรีอิเล็กทรอนิกส์และดนตรีแดนซ์ เพราะฉะนั้นฉันก็เลยฟังดนตรีประเภทนี้เยอะ ฟังใครก็ได้ที่ทำดนตรีออกมาดีๆ เพราะว่าดนตรีแบบนี้สามารถเป็นได้ทั้งแบบอินดี้ แบบทั้งป๊อป หรือแบบฮิปฮอป ฉันฟังเพลงเยอะ และนั่นแหล่ะก็เป็นแรงบันดาลใจสำคัญของฉัน อีกแรงบันดาลใจหนึ่งก็คงจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี ว่าเราสามารถนำความสามารถของสิ่งเหล่านั้นมาทำอะไรได้บ้างกับดนตรีของเรา (หัวเราะ) มันน่าอัศจรรย์นะ

เสน่ห์ของ Synthesizer อยู่ตรงไหน?
สำหรับฉัน มันคือเครื่องดนตรีแห่งอนาคต เหมือน The Beatle ที่เขาก็ได้ลองทำดนตรีมาทุกแนว แต่แนวที่เขาไม่ได้ลองอาจจะเป็นแนวเทคโนและอิเล็กทรอนิกส์ (หัวเราะ) ดังนั้นคนที่เป็นแฟนของเสียงกีตาร์ หรือเป็นคนเล่นกีตาร์ พวกเขาก็ต้องฟัง The Beatle หรือ The Rolling Stones แค่นั้นก็ได้ ใช่ไหม? แต่สำหรับดนตรีเทคโนแล้ว มันยังคงต้องมีการค้นหาเสียงและเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา สำหรับกีตาร์เนี่ย เครื่องดนตรีชนิดนี้มันมีมานานๆๆๆๆๆๆๆๆๆ (เน้นเสียงยาว) มากแล้ว ใครๆ ก็เคยได้ยิน แต่สำหรับ Synthesizer แต่ละปีเขาก็จะมีการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้มีคุณสมบัติที่ใหม่และดีขึ้น มีการพัฒนาอุปกรณ์สร้างเสียงรุ่นใหม่ๆ ออกมาทุกปี แน่นอนว่าเราก็จะได้ยินเสียงใหม่ๆ เพิ่มขึ้นทุกปี Synthesizer มันเลยไม่ตาย นี่แหล่ะคือสิ่งที่ฉันชอบ

การ Mix เพลงช่างดูอิสระดีจัง คุณมีวิธีการที่เป็นแบบแผนในการ Mix ขณะแสดงสดบ้างไหม? มีอะไรอยู่ในหัวคุณขณะนั้น?
ฉันก็แค่พยายามหาเมโลดี้ของประเภทดนตรีที่ฉันรัก แล้วก็พยายามนำมันมารวมๆ กัน เพราะฉันเป็นคนไม่ชอบเล่นดนตรีประเภทใดประเภทหนึ่ง มีดีเจหลายคนที่ชอบแบบไหนก็จะเล่นอยู่แบบเดียว เช่นบางคนเล่นแนวเทคโน อิเล็กโทรเฮาส์ หรือฟังก์กี้เฮาส์เท่านั้น สำหรับฉันแล้ว ฉันพยายามจะมิกส์ทุกอย่างออกมา เพราะมันให้อะไรที่มากกว่าสำหรับคนฟัง (หัวเราะ) แน่ละว่ามันง่ายกว่าถ้าจะเล่นแค่ดนตรีประเภทใดประเภทเดียว แต่มันก็เป็น Tempo เหมือนๆ กัน Style เหมือนๆ กัน แต่สำหรับฉันแล้วฉันชอบดนตรีหลายประเภท ครั้งแรกที่ฉันได้ยินดนตรีแบบเฮาส์ นั่นแหล่ะก็เป็นครั้งแรกที่ฉันเห็นว่าคนเอาดนตรีหลายประเภทมารวมกัน และนั่นก็เป็นกรมิกส์ดนตรีประเภทหนึ่งที่ฉันอยากจะนำเสนอให้แก่คนฟัง เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่ามีอะไรอยู่ในจิตใจของฉัน ซึ่งนั่นก็คือการที่ฉันชอบดนตรีตั้งแต่ปี 1989 มาจนถึงการมีอัลบั้มเป็นของตัวเอง

แต่งานดนตรีแบบนี้ เริ่มกลายมาเป็นเพลงบรรเลงสำหรับงานปาร์ตี้มากขึ้น เหมือนเป็นเพลงที่เปิดผ่านหูให้ผู้คนเต้นไปเมาไป มันดูตื้นเขินน่ะ?
ฉันคิดว่ามันไม่ค่อยจริงเท่าไรนะ เพราะว่าสำหรับฉันแล้ว เวลาฉันได้ฟังเพลงเฮาส์มันได้อารมณ์และสร้างแรงบันดาลใจให้มากมาย ยิ่งถ้ามีการใส่เนื้อร้องเข้าไปด้วยแบบเพลงแร๊พน่ะ ใช่ไหม? คุณจะยิ่งได้อารมณ์เพิ่มขึ้นอีกมากเลย จริงๆ แล้วคนที่กำลัง เฮ้ย! ยกมือขึ้นหน่อยสิ! มาปาร์ตี้กันหน่อย! สิ่งเหล่านั้นบอกอะไรแก่เราผ่านดนตรีแดนซ์เหมือนกันนะ คนที่ได้มาเจอกันในงานปาร์ตี้ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง เมื่อเขาได้มาเจอกัน ได้มาคุยกัน นั่นแหล่ะ! คือการได้สื่อสารกัน ได้รู้จักกัน ได้มาอยู่รวมในสังคมเดียวกัน ทั้งที่เขาไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ก็ดนตรีแนวนี้นี่แหล่ะที่เป็นสื่อกลางระหว่างสิ่งเหล่านี้ จริงไหม? และฉันเชื่อว่าดนตรีเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ในอีกหลายๆ เหตุการณ์ เป็นการแสดงออกถึงอิสรภาพซึ่งจะสามารถได้จากแค่เพลงแดนซ์เพลงเดียว ฉันเคยได้ยินมาว่าสิ่งเหล่านี้คือ Universe of Consciously (จักรวาลแห่งสามัญสำนึก) อย่างเช่นในคลับ หรือในคอนเสิรท์เพลงร็อค มันก็มีดนตรีที่สื่อได้กับทุกๆ คน มันอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเพราะมีบางคนที่เขารู้สึกโดดเดี่ยวมาก แต่เมื่อเขาได้มาได้ยินดนตรีที่เขาชอบ หรือได้ยินเพลงแดนซ์มิวสิค เขาก็จะรู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยวน้อยลง ผู้คนสื่อได้ถึงข้อความที่ซ่อนอยู่ในเพลง และฉันก็ไม่เห็นว่าดนตรีแดนซ์ไม่ได้มีข้อความที่จะสื่อถึงคนตรงไหน ข้อความของเราอาจจะเป็น... ความรัก! (หัวเราะ) มันเป็นไปได้ไหม? คำตอบคือ ได้สิ! และฉันก็หวังว่ามันควรจะเป็นอย่างนั้น ขอโทษนะถ้ามันเป็นคำตอบที่ยาวไปหน่อย (หัวเราะ)

ถ้าเป็นแบบนั้นแล้ว คุณคิดว่าอนาคตของดนตรีจะอยู่ที่จุดไหน Sound Programming จะกลายมาเป็นวิธีการหลักของดนตรีในยุคสมัยใหม่เลยหรือเปล่า?
ในอนาคตนี้ฉันไม่รู้นะว่าเขาจะทำอะไรกันต่อไป สำหรับฉันแล้ว ดนตรีแดนซ์กับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ คืออนาคต เพราะว่าดนตรีประเภทนี้ยังคงต้องมองหาเทคนิคใหม่ๆ ไม่ใช่ว่าเป็นเทคโนโลยีเดิมที่มีแค่เพียง กลอง กีตาร์ และเบส สำหรับอนาคตแล้ว เอ่อ... ไม่รู้สิ! ฉันคงบอกอะไรมากไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ คือดนตรีคงจะเข้าไปถึงคนฟังได้มากขึ้นแน่ๆ อย่างงาน Bacardi B-Live Culture One เนี่ย ก็เป็นรสชาติของอนาคตแล้วล่ะ ไม่ว่าจะเป็นแสง สี เสียง วิชวลไลเซอร์ มีดีเจพิเศษๆ มากมายจากทั่วโลก มีความรู้สึกดีๆ ของคนฟัง และมีเสียงดนตรีที่รวมกันป็นหนึ่งเดียว ไม่แน่ว่าสิ่งเหล่านี้อาจเป็นขุมพลังของดนตรีในอนาคตก็ได้ แต่มันก็แค่ความคิดของฉันคนเดียวเท่านั้นล่ะนะ (หัวเราะ) แต่ฉันว่าอีกหน่อยคุณไม่จำเป็นต้องไปคลับอีกแล้ว คุณสามารถเปิดวิชวล ฟังเพลง แล้วก็เต้นอยู่ในบ้านของคุณเอง พาเพื่อนๆ มาปาร์ตี้ (หัวเราะ) แต่ฉันคงไม่สรุปอะไร เพราะใครจะไปรู้ล่ะว่า ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นยังไงในอนาคต

ค้นหาและรู้จักเธอในภาคดนตรีเพิ่มได้ที่ www.myspace.com/faithlessmusic
ภาพ: Tossapon Boonyatanapitak
ขอขอบคุณ : โรงแรม Pullman Bangkok King Power เอื้อเฟื้อสถานที่ในการถ่ายภาพ

ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร Crush Magazine มีนาคม 2552 คอลัมน์ Crush on her

16 February 2011

Supakitch & Koralie


เมืองนอกเขาใช้สี ไอเดีย กับเครื่องมือเก่งกันจริงๆ เมืองไทยก็มีคนเก่งๆ อย่างนี้เยอะครับ แต่หาที่ลงยากนอกจากได้ลงนิตยสารติสต์แตกขายยากๆ ไม่กี่เล่มแล้ว แค่ดื่มเหล้าคืนเดียวก็ไม่รู้จะกินอะไรแล้วพรุ่งนี้...