นิทานยูเนสโก้
“ทุกวันนี้เราตกเป็นทาสของตะวันตกจนน่าใจหายที่คนไทยไม่คิดระแวง ไม่จำเป็นต้องเลิกทาส เพราะยังไงชนชั้นกลางส่วนใหญ่ก็ไม่คิดจะยอมเลิกอยู่แล้ว”
“รู้หรือเปล่า ว่ามรดกโลกคืออะไร?”
“แล้วรู้หรือเปล่า ว่าในราชอาณาจักรไทยก็ยังมีสถานที่อีกหลายแห่ง ที่ได้รับตำแหน่งนี้จาก ยูเนสโก้...”
ผู้ชายโทรศัพท์มาหาผมตั้งแต่ตอนเช้าตรู่ของวัน เสียงของเขาดูตื่นเต้นที่ได้ไปรู้ข่าวคราวนี้มาจากอินเตอร์เน็ต ประเทศไทยของเราได้รับเกียรติแบบนี้ด้วยหรือ มรดกโลก ไหนจะองค์การยูเนสโก้อีก
หลายคนอาจเคยได้รู้มาแล้ว แต่ใครอีกหลายคนรวมถึงผมกลับได้ยินเพียงแค่ ผ่านๆ หูมา ก็เสียงแตรรถยนต์ และเสียงความจอแจในเมืองหลวงมันดังกลบซะอย่างนั้น ผมคงต้องยอมรับว่าตลอดการใช้ชีวิตของผมมา ครั้งนี้เกือบจะเป็นครั้งแรกที่ผมเคยได้ยินเรื่องราวเหล่านี้
ยูเนสโก้ เชียวหรือ? ฟังแล้วมันดูโก้ ดูอินเตอร์ ตามชื่อเลยนะ แหม๋! มันเท่จริงๆ ว่าแต่ยูเนสโก้คืออะไร?
“ป่าประเทศของยูเพิ่งจะได้สถานะมรดกโลกมาหนิ เมื่อกลางปีที่ผ่านมา นี่ยูไม่รู้อะไรจริงๆ เหรอ? ก็เขาใหญ่ไงหล่ะ?”
ไมเคิลเจ้าของเสียงตื่นเต้นที่โทรศัพท์มาหาผมแต่เช้ากล่าวถามขึ้น
“อ้าวจริงเหรอ! ผมไม่ค่อยได้ติดตามเรื่องราวเหล่านี้เท่าไร แต่ก็ดีนี่” ผมกล่าวตอบเลี่ยงๆ ไป และรีบเดินไปที่โต๊ะทำงาน ไม่ใช่เพราะผมขี้เกียจตอบคำถามหรือ รำคาญไมเคิลหรอกนะ แต่ผมอายเขามากกว่า ที่ผมเป็นคนไทยแท้ๆ กลับไม่เคยรู้เรื่องอะไรเหล่านี้เลย
ไมเคิลเป็นชาวอเมริกาที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยได้หลายปีแล้ว เขาเคยบอกกับผมและเพื่อนๆ ร่วมงานว่า เขารักเมืองไทย เพราะเมืองไทยสวยงาม และเป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าเสียดายที่เขาไม่ได้เกิดมาเป็นคนไทย แต่เขาก็มักอดที่จะภูมิใจหรือดีใจไม่ได้ เมื่อเมืองไทยได้รับชื่อเสียงจากเรื่องต่างๆ หรือมีคนต่างชาติคนอื่นพูดถึงประเทศนี้ ประเทศของเรา... หรือประเทศของไมเคิล?
หลายต่อหลายครั้งที่ไมค์จะมาด้วยคำถามแปลกๆ ที่ทำเอาคนไทยอย่างผมอึ้งไป
“อ้าว! แล้วทำไมพวกยูไม่เรียกชื่อประเทศว่า ราชอาณาจักรไทยหล่ะ ก็ไอเหมือนเคยได้อ่านมาว่า ชื่อประเทศของยูในสารานุกรม เขียนแบบนี้ไม่ใช่หรือ?”
“ประเทศของยู ไม่ใส่ชุดประจำชาติกันแล้วเหรอ? ชุดแบบที่ไอเคยเห็นในหนังสือหน่ะ”
“ไทยมิวสิค แอนด์ไทยแดนซ์ซิ่ง หายไปไหน? มีผับแถวไหนบ้างไหมที่เด็กบ้านยูเข้าไปไทยแดนซ์ซิ่ง?”
“ทำไมต้องมีผม คุณ ฉัน กู มึง... ไอว่าไอ้คำพวกนี้แหล่ะนะ ที่ทำให้มีการแบ่งแยกชนชั้นกันในบ้านยู”
“ไอชอบเสียงระนาด และซอมากๆ วงดนตรีสมัยนี้น่าจะเอาเข้าไปร่วมเล่นด้วยนะ”
และหลายต่อหลายครั้งอีกเช่นกัน ที่ไมค์มักจะเอาข้อมูลของเมืองไทยมาบอก ข้อมูลที่ผมเองก็ไม่เคยรู้
“ธงช้างแบบเก่าของยู เคยมีคนผูกตีลังกา เป็นช้างกลับหัว ตอนรับเสด็จในหลวงร. 6 รวมไปถึงเพื่อความสะดวกของพสกนิกรจะได้มีไว้ใช้ได้ง่าย ไม่ต้องจัดทำเป็นรูปช้างให้ยุ่งยาก พระองค์ท่านจึงให้มีการเปลี่ยนเป็นธงสามสีอย่างปัจจุบันไงหล่ะ”
“เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วในเมืองหลวงของราชอาณาจักรไทยมี รถไฟฟ้าใช้แล้วนะ ที่เขาเรียกกันว่ารถราง แต่เพราะรถเมล์เกิดขึ้น รถรางก็วิ่งช้าไป และไปเกะกะการจราจร ก็เลยต้องยกเลิก”
“บางกะปิที่พวกเรารู้จักกัน อดีตเคยอยู่ที่ถนนสุขุมวิท ตั้งแต่คือถนนเพลินจิตที่เราทำงานนี่ ถึงพระโขนงน่ะ ยูรู้ไหม”
และกับความรู้ใหม่ของไมเคิลในวันนี้...
“ป่าประเทศของยูเพิ่งจะได้สถานะมรดกโลกมาหนิ เมื่อกลางปีที่ผ่านมา นี่ยูไม่รู้อะไรจริงๆ เหรอ? ก็เขาใหญ่ไงหล่ะ?”
พักเที่ยงวันนั้น ผมรีบปฏิเสธการเดินลงไปแย่งผู้คนมากมาย ทั้งในและต่างบริษัทเพื่อกินอาหารกลางวัน ผมมีเวลาเพียงชั่วโมงหนึ่งที่จะอัพเดทความรู้ตามที่ไมเคิลบอกมา ก็ใครจะพลาดได้ละครับเรื่องน่าตื่นเต้นขนาดนี้
ยูเนสโก้ เชียวหรือ? ฟังแล้วมันดูโก้ ดูอินเตอร์ ตามชื่อเลยนะ แหม๋! มันเท่จริงๆ ว่าแต่ยูเนสโก้คืออะไร?
ผมเปิดอินเตอร์เน็ตของบริษัท ในบริเวณโต๊ะทำงานแคบๆ ของผม หลายปีมานี้ ผมใช้อินเตอร์เน็ตไปกับการพูดคุยสัพเพเหระกับเพื่อนๆ การรับ และส่งงานของบริษัทที่ต้องเอากลับมาทำที่บ้าน การอ่านข่าวสารบ้านเมือง บันเทิง และกีฬาที่ตามเก็บจากหนังสือพิมพ์ไม่ทัน หลายครั้งที่ผมเห็นน้องชายใช้อินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ในการเล่นเกม น้อยครั้งนักที่ผมจะได้ใช้คอมพิวเตอร์เครื่องนี้ในการหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กับความสนใจตัวเองสักที อย่างน้อยก็เอาไว้อัพเดทข่าวของราชอาณาจักรไทยอย่างที่ไมเคิลชอบเรียกอย่างนั้น
หน้าจอคอมพิวเตอร์แสดงข้อมูลมากมายจากการค้นหาคำว่า UNESCO และคำว่ามรดกโลก หลายๆ ความรู้เป็นสิ่งใหม่ แปลกตาจนแทบไม่น่าเชื่อ เครื่องคอมพิวเตอร์ไล่รายการมาให้ผมเลือกอ่านนับร้อย ผมเลือกรายการที่น่าจะตรงกับที่ต้องการหนึ่งถึงสองรายการ
“UNESCO ย่อมาจาก United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization หรือแปลเป็นไทยว่า องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2488”
ข้อมูลเกือบทั้งหมดก็ปรากฎอย่างว่าง่ายบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพิ่งจะรู้ว่าในโลกแห่งอินเตอร์เน็ตมีความรู้อยู่มากมายขนาดนี้ ผมอดคิดไม่ได้จนชั่วขณะไล่สายตาไปอีกสองสามบรรทัด
“มีสำนักงานอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบัน (มีนาคม 2548) มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 191 ประเทศ และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยเข้าร่วมเป็นลำดับที่ 49 ในวันที่ 1 มกราคม 2492”
“ยูเนสโก้ร่วมมือกันตามคำมั่นสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้ด้วยข้อความที่ว่า สงครามเกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ ดังนั้นจึงต้องสร้างความหวงแหนสันติภาพ ให้เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ด้วย” มิเพียงแต่ฟังดูคมคาย แต่ถ้อยวลีนี้ยังเปี่ยมไปด้วยแนวคิดง่ายๆ แต่น่าคิด
“มรดกโลก (World Heritage) คือ สถานที่ซึ่งมีคุณค่าสูงส่งอันประมาณค่าไม่ได้ และจะหาสถานที่อื่นใดมาแทนที่ก็ไม่ได้ คุณค่านี้ไม่ได้เป็นเพียงของชนชาติใดชาติหนึ่ง แต่เป็นของมนุษยชาติทั้งปวง”
“ของมนุษย์ชาติทั้งปวง? มรดกของโลก?”
“มรดกโลก จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. มรดกทางวัฒนธรรม มีความครอบคลุมถึงสิ่งต่างๆ ดังนี้
- อนุสรณ์สถาน (ผลงานทางสถาปัตยกรรม ผลงานทางประติมากรรม หรือจิตรกรรม ส่วนประกอบหรือโครงสร้างของโบราณคดีธรรมชาติ จารึก ถ้ำที่อยู่อาศัย และร่องรอยที่ผสมผสานกันของสิ่งต่างๆ ข้างต้น) ซึ่งมีคุณค่าโดดเด่นในระดับสากลในมิติทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ หรือวิทยาสตร์
- กลุ่มอาคาร (กลุ่มของอาคารที่แยกจากกันหรือเชื่อมต่อกันโดยลักษณะทางสถาปัตยกรรม หรือโดยความสอดคล้องกลมกลืน หรือโดยสถานที่จากสภาพภูมิทัศน์) ซึ่งมีคุณค่าโดดเด่นในระดับสากลในมิติทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ หรือวิทยาศาสตร์
- แหล่ง ผลงานที่เกิดจากมนุษย์ หรือผลงานที่เกิดจากมนุษย์ และธรรมชาติ และบริเวณอันไปถึงแหล่งโบราณคดี ซึ่งมีคุณค่าโดดเด่นในระดับสากลในมิติทางประวัติศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ ชาติวงศ์ หรือมานุษยวิทยา”
“พูดง่ายๆ ก็คงคือสถาปัตยกรรมที่เกิดจากมนุษย์ หรือธรรมชาติ ที่มีคุณค่า และหาไม่ได้อีกแล้ว มรดกโลกที่อยู่ในกลุ่มนี้ก็ได้แก่ พีรามิดที่อียิปต์ เทพีเสรีภาพที่อเมริกาบ้านเกิดของไมเคิล กำแพงเมืองจีนที่ประเทศจีน ฯลฯ”
“2. มรดกทางธรรมชาติ มีความหมายครอบคลุมถึงสิ่งต่างๆ ดังนี้
- สภาพธรรมชาติที่ประกอบด้วยลักษณะทางกายภาพ และทางชีวภาพ หรือกลุ่มของสภาพธรรมชาติดังกล่าว ซึ่งมีคุณค่าโดดเด่นในระดับสากลในมิติทางสุนทรียศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์
- สภาพองค์ประกอบทางธรณีวิทยา หรือธรณีสัณฐาน หรือบริเวณที่พิสูจน์ทราบอย่างชัดแจ้ง ว่าเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสายพันธุ์สัตว์ และพืชที่กำลังได้รับการคุกคาม ซึ่งมีคุณค่าโดดเด่นในระดับสากลในมิติทางวิทยาศาสตร์ หรือการอนุรักษ์
- สภาพธรรมชาติหรือบริเวณที่พิสูจน์ทราบอย่างชัดแจ้งว่า มีคุณค่าโดดเด่นในระดับสากลในมิติทางวิทยาศาสตร์ การอนุรักษ์ และความงดงามตามธรรมชาติ”
“หรือธรรมชาติ ที่ใกล้จะเหลือน้อย และต้องได้รับการคุ้มครอง เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ของไทย ”
“พื้นที่ที่นำเสนอเป็นมรดกโลกต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย 1 ใน 4 คุณสมบัติดังนี้ - เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดในการเป็นตัวแทนของวิวัฒนาการสำคัญๆในอดีตของโลก เช่น ยุคสัตว์เลื้อยคลาน ยุคน้ำแข็ง - เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดในการเป็นตัวแทนของขบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางธรณีวิทยา หรือวิวัฒนาการทางชีววิทยา
และปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่กำลังเกิดอยู่ เช่น ภูเขาไฟ เกษตรกรรมขั้นบันได - เป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์หายากเป็นพิเศษ เช่น แม่น้ำ น้ำตก ภูเขา - เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่หายากหรือที่ตกอยู่ในภาวะอันตรายแต่ยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้”
“ประเทศไทยมีสถานที่ที่ได้เป็นมรดกโลกอยู่ 5 แห่ง ได้แก่
- Thung Yai-Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuaries ,1991
- Historic Town of Sukhothai and associated historic towns ,1991
- Historic City of Ayutthaya and associated historic towns ,1991
- Ban Chiang Archaeological Site ,1992
- Dong Phayayen - Khao Yai Forest Complex ,2005”
ข้อมูลที่ผมได้ มาจากเวปไซท์อย่างเป็นทางการของยูเนสโก (http://www.unesco.org/) ทำให้ผมได้เห็นว่าชาวต่างชาติรู้จักบ้านเมืองของเราด้วยสำเนียงไหน ผมลองมาไล่ดูในสถานที่แต่ละที่ ในสำเนียงที่พวกเราคุ้นเคยกันคือสำเนียงไทยได้ดังนี้
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง
- อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
- นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
- แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
- ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
ยังไม่ทันที่ผมจะได้รู้สึกภาคภูมิใจ หรือทำความเข้าใจมากนัก เวลางานที่ต้องสานต่อในช่วงบ่ายก็มาถึง ในใจผมเกิดคำถามมากมายจากประเด็นที่ไมเคิลตั้งขึ้นเมื่อตอนสาย ไม่สิ! ตั้งแต่ตอนเช้าตรู่เลยด้วยซ้ำ มรดกของโลก? มรดกของประเทศ? มรดกของคนไทย? มรดกของพวกเราทุกคน?
“ว่าไงไมค์ วันนี้ตอนกลางวันผมลองหาอ่านเรื่องที่ประเทศไทยได้มรดกโลกตามที่คุณบอกไง ผมสงสัยหว่ะ? ตกลงไอ้คำว่ามรดกโลกนี่มันได้กันมาได้ยังไง” ผมกล่าวถามไมเคิลในตอนเย็นหลังงานเลิก
“อ่อ! เท่าที่ไอรู้นะ ใครอยากได้ต้องเสนอพื้นที่ตัวเองให้กับยูเนสโก โดยการทำเอกสารเสนอหรือที่เขาเรียกว่า Nomination ที่ต้องแสดงว่าพื้นที่ที่เสนอนั้นมีคุณค่าตามเกณฑ์ที่ยูเนสโกกำหนด ไปนั่งดื่มกาแฟที่ร้านกันก่อนสิ แล้วยูจะได้นั่งคุยกับไอไปด้วย” ไมเคิลกล่าวเชิญชวนผม แล้วพาเดินนำเข้าไปนั่งในร้านกาแฟด้านล่างตึก
“แล้วอย่างนี้ไมค์ คุณคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราน่าจะภูมิใจที่ประเทศของเราได้จัดให้เป็นมรดกโลกไหม? เพราะผมคิดว่ามันก็เหมือนการเสนอตัวเองประกวด ที่สิ่งที่ตามมาจากการได้รางวัลก็คือชื่อเสียง และนักท่องเที่ยวมากมายไม่ใช่เหรอ?” ผมกล่าวถามไมเคิลพร้อมยกคำว่าประเทศของเราให้กับเขาด้วย ตามที่ผมรู้สึกผมว่าประเทศนี้น่าจะเป็นของไมเคิลเช่นเดียวกัน และพวกเราคนไทยทั้งประเทศก็คงไม่รังเกียจ
“ไอว่านั่นก็คงเป็นผลประโยชน์หนึ่ง แต่ที่นอกเหนือกว่านั้นก็คงเป็นการนำเอาสแตนดาร์ดเข้ามาดูแลผืนป่า หรืออุทยานต่างๆ ของราชอาณาจักรไทย เพราะว่าไอรู้มาว่าถ้าได้เป็นมรดกโลก เรายังต้องดูแลพื้นที่ไม่ให้เสื่อมโทรม และต้องให้คงอยู่อย่างยั่งยืน นี่ก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้ ที่ไอกังวลก็คือ ราชอาณาจักรไทยประโคมข่าวแบบนี้กันน้อยมาก จนทำให้เรื่องนี้รู้กันในเฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น”
“แต่ที่ผมกำลังกังวลก็คืออย่างเขาใหญ่หน่ะ ประเทศมหาอำนาจหลายๆ ประเทศกำลังขาดแคลนป่าไม้ เนื่องจากประชากรในประเทศเขาไม่อนุรักษ์ไว้ แล้วจึงใช้ชื่อของยูเนสโกมาสร้างภาพมรดกโลกให้ผืนป่าอย่างประเทศของเรา ให้อนุรักษ์ไว้ให้โลก ห้ามตัด ห้ามปลูกสิ่งก่อสร้าง ห้ามทำถนน ห้ามใช้ประโยชน์จากผืนป่าไปในทางพัฒนา ต้องเก็บความอุดมสมบูรณ์ไว้แบบนั้น แล้วพวกเขา เอ่อ... ก็ยังคงบ่อนทำลายโลกส่วนของเขากันต่อไป หรือเปล่า? นี่ผมไม่ได้ว่าประเทศคุณนะไมค์... เรากำลังถูกคุกคามด้วยการคิดแบบตะวันตก การตัดสินโลกทั้งใบด้วยมนุษย์ผมสีทองไม่กี่เปอร์เซนต์ แต่ดันเป็นสัดส่วนที่มีอำนาจมหาศาล ผมว่ามันไม่เหมาะกับโลกตะวันออกเท่าไรนักหรอก!” เสียงที่แข็งขืนต้องอ่อยลงเมื่อผมเผลอใส่อารมณ์กับประเทศบ้านเกิดของไมค์
“ไม่เป็นไรหรอก ไอเข้าใจ ไอก็ยอมรับ และหลงรักราชอาณาจักรไทยของยูมากเหมือนกัน ไอยังมองว่าแปลกตาที่ราชอาณาจักรไทยกลายเป็นประเทศปฏิวัติอุตสาหกรรม ยังไงไปก็ว่าภูมิประเทศของประเทศยูก็น่าจะเหมาะกับเกษตรกรรมมากที่สุด เพราะคนมีอำนาจและมีเงินไม่กี่คนหยิบหมวกของตะวันตกมาสวมให้ประเทศของยู น่าตลกอย่างร้ายกาจแต่ก็ขำไม่ออก ผสมกับข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศไม่กี่ข้อที่ประเทศของไอตั้งเงื่อนไขกับประเทศของยู ซึ่งจะปฏิเสธก็พลอยแต่จะทำให้ประเทศลำบาก ทุกวันนี้เราตกเป็นทาสของตะวันตกจนน่าใจหายที่คนไทยไม่คิดระแวง ไม่จำเป็นต้องเลิกทาส เพราะยังไงชนชั้นกลางส่วนใหญ่ก็ไม่คิดจะยอมเลิกอยู่แล้ว เรื่องอย่างนี้มันก็ความคิดของแต่ละคนนะ ความจริงไอรู้มานานแล้วหล่ะเรื่องของการยอมรับได้ และการยอมรับไม่ได้ของคนทั่วโลกต่อมรดกโลกของยูเนสโก อย่างในเวปไซท์ที่ไอเข้าไปอ่านข้อมูลมีคนหลายคนที่โต้ตอบกันอย่างรุนแรง บางคนถึงกับบอกว่าที่นั่นที่นี่ ได้เป็นมรดกโลกได้ยังไง? บางคนบอกว่าเงินที่ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศต้องจ่ายให้กับยูเนสโก้แต่ละปีมากเกินไปไหม? ประเทศนั้นถูกยกย่องว่าเป็นมรดกโลกเพราะประเทศของไอจะเก็บพื้นที่นั้นไว้ และใช้อำนาจถือครองภายหลังจากนี้ไม่กี่สิบปี? ไอเข้าใจการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมนะ ความคิดเห็นย่อมแตกต่างหลากหลายหรือยูว่ายังไง?”
ผมไม่ตอบ วันนั้นผมรู้สึกว่าเรื่องราวอะไรหลายอย่างที่ไมเคิล และผมได้คุยกันทำให้ผมได้รู้เรื่องอะไรอีกมาย ไม่ใช่เรื่องของยูเนสโก้ ไม่ใช่เรื่องของมรดกโลก ไม่ใช่เรื่องของมนุษยชาติ ก็แค่เรื่องของพวกเรา พวกเราคนไทยแท้ๆ ไม่ใช่คนชาติอื่นอย่างไมเคิล ที่มีมุมมองดีๆ ต่อประเทศไทยอย่างนั้น อย่างสถานที่ท่องเที่ยวของเราที่ฝรั่งไขว่คว้าอยากจะไป แต่คนไทยเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่เคยไปเยี่ยมเยือน วัฒนธรรม และความเป็นไทยดีๆ ที่คนไทยด้วยกันเองหัวเราะเยาะว่าเชย แสนเชย ล้าหลัง ไม่พัฒนา แล้วไปยกย่องคุณค่าชาวต่างชาติจนบางครั้งก็ดูแปลกตาไป
ยูเนสโก้ เชียวหรือ? ฟังแล้วมันดูโก้ ดูอินเตอร์ ตามชื่อเลยนะ แหม๋! ไอว่ามันเท่จริงๆ เลยไมเคิล?